สังคมไร้เงินสดในวอชิงตันดีซี ร้านค้าเลิกรับเงินสดเป็นปัญหาต่อคนไม่มีบัตรเครดิต

สังคมไร้เงินสดนั้นแม้จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าอย่างมากมาย ทั้งในด้านความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมถึงลดต้นทุนและความเสี่ยงในการใช้เงินสดลง แต่กลับกัน เมื่อร้านค้าเลิกรับเงินสดไปแล้ว คนที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ Cashless ได้ก็มีปัญหาในการใช้ชีวิตทันที

ภาพ PublicDomainPictures/Pixabay (CC0 Creative Commons)

อเมริกานั้นก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เริ่มไม่ค่อยมีการใช้งานเงินสดแล้ว แต่การใช้งานจะแตกต่างกับจีนเนื่องจากจีนจะเน้นการใช้งาน Alipay และ WeChat Pay ซึ่งเป็นระบบจ่ายเงินด้วยมือถือ ใช้การสแกน QR Code เป็นหลัก ในขณะที่ฝั่งอเมริกานั้นจะนิยมใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากธนาคาร ส่งผลให้กลุ่มคนที่แทบไม่ได้ใช้บริการธนาคารก็ไม่สามารถเปิดบริการได้ หรือบางคนอาจไม่สะดวกใจในการเปิดบัตรเพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

Gene Marks คอลัมนิสต์ The Guardian ได้เขียนบทความหัวข้อ “Why going cashless is discriminatory – and what’s being done to stop it” เกี่ยวกับประเด็นบางข้อของสังคมไร้เงินสดไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ปัจจุบัน สังคมไร้เงินสดเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งการจ่ายเงินผ่านมือถือ, บัตรเครดิต, สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ในเบลเยี่ยมห้ามมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยเงินสดแล้ว สวีเดนก็มีอัตราการใช้เงินสดต่อธุรกรรมเหลือไม่ถึง 2% และตัวเลขนี้มีทีท่าจะลดลงเรื่อย ๆ

แต่ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของสหรัฐฯ เพิ่งจะเสนอกฎหมาย The Cashless Retailers Prohibition Act of 2018 ว่าการที่ร้านอาหารหรือร้านค้าปลีกไม่รับเงินสด หรือเก็บเงินลูกค้าแตกต่างกันตามรูปแบบการจ่ายเงินที่ลูกค้าเลือกนั้นผิดกฎหมาย

ร่างกฎหมายล่าสุดของวอชิงตันดีซีนั้น ส่งผลต่อผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างเช่น Sweetgreen เชนร้านขายสลัดที่เลิกรับเงินสดไปแล้ว ซึ่งผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่เลิกรับเงินสดนั้นให้ความเห็นว่าการไม่ใช้เงินสดช่วยทำให้การทำธุรกรรมไวขึ้น ปรับปรุงการบริการลูกค้า และทำให้การบัญชีแม่นยำขึ้น พร้อมยืนยันว่าการใช้เงินสดที่น้อยลงช่วยลดความเสี่ยงจากอาชญากรรมและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งพนักงานและลูกค้า

ภาพจาก Shutterstock

ในมุมมองของผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบจ่ายเงินที่ไม่ต้องใช้เงินสดได้นั้น สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหา แต่จากรายงานของ Washington City Paper พบว่าปัจจุบัน 27% ของชาวอเมริกันมีปัญหาในการใช้งานเฉพาะบัตรเครดิตซื้อสินค้า ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูงขึ้นเมื่ออยู่ในวอชิงตันดีซี

Linnea Lassiter นักวิเคราะห์จากสถาบันนโยบายการเงินดีซี (DC Fiscal Policy Institute) กล่าวว่า “ฉันรู้สึกกังวลเมื่อมีร้านอาหาร, ธุรกิจ และร้านค้าจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ไม่ใช้เงินสดเนื่องจากคุณกำลังกีดกันโดยหลักการกับกลุ่มคนที่ปัจจุบันนั้นเสียเปรียบและเสียสิทธิ์อยู่แล้ว และตอนนี้กลุ่มคนเข้านั้นไม่สามารถเข้าร้านอาหารเหล่านั้นได้”

David Grasso หนึ่งในสมาชิกสภาที่เสนอกฎหมายเรื่องห้ามร้านค้าปฏิเสธการรับเงินสดแถลงไว้ในเว็บไซต์ของเขาว่า “การแบนการใช้เงินสดนั้นเป็นความพยายามในการแบ่งแยกซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวดีซี 10% ที่เป็นกลุ่ม unbanked (ไม่มีบัญชีธนาคาร) และอีก 25% ที่เป็นกลุ่ม underbanked (คนที่มีบัญชีธนาคารแต่แทบไม่ได้ใช้บริการ) ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบัตรเครดิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามนี้ยิ่งเป็นการแบ่งแยกกลุ่มเยาวชนที่ไม่สามารถขอบัตรเครดิตได้ ส่งผลต่อเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยการปฏิเสธการใช้เงินสดของลูกค้าเหล่านั้น ธุรกิจมักจะบอกว่าไม่ต้อนรับกลุ่มคนรายได้ต่ำและเด็ก”

ภาพ pixabay.com

แม้จะมีร้านมากมายที่ปฏิเสธการรับเงินสด แต่ก็มีตัวอย่างหนึ่งเช่น Cava เชนร้านอาหารในดีซีที่มีวิธีจ่ายเงินให้ลูกค้าหลากหลายแบบ อย่างเช่นพรีออร์เดอร์อาหารในช่องทางออนไลน์ และรับระบบจ่ายเงินด้วยมือถือ แต่ Cava ก็ยังพร้อมรับเงินสดจากลูกค้าอยู่ โดยซีอีโอของ Cava บอกว่า “ไม่ว่าจะสำหรับคนที่มีเหตุผลด้าน underbanked หรือเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับการติดตาม เราก็ต้องการที่จะจัดให้เหมาะกับกลุ่มคนเหล่านั้น”

หรือพูดในอีกทางหนึ่งคือ ถ้าใครอยากจะมาซื้อของและเขาพร้อมจ่าย ไม่ว่าจะวิธีไหนก็อย่าทำให้มันยุ่งยากนัก

สรุป

แม้สังคมไร้เงินสดจะเป็นเทรนด์ในหลายประเทศ รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ แต่การเลิกใช้เงินสดไปเลยกลับสร้างปัญหาให้กลุ่มคนที่ไม่มีระบบจ่ายเงินหรือกลุ่มคนที่ยังต้องการใช้เงินสดอยู่ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไปควบคู่กับการพัฒนาสังคมไร้เงินสดด้วย

นอกจากในวอชิงตันดีซีแล้ว ประเทศที่ระบบจ่ายเงินบนมือถือเติบโตสูงมากในจีน ธนาคารกลางก็เพิ่งออกมาเตือนเรื่องการห้ามปฏิเสธการรับเงินสดเหมือนกัน

ที่มา – The Guardian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ