สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นกระแสที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินจนทำให้เราไม่ต้องพกเงินสด ก็สามารถใช้จ่ายผ่านมือถือ หรือบัตรเครดิตแทนได้ แต่หลายคนก็ยังคุ้นกับการใช้เงินสดอยู่ แล้ว Cashless Society จะเกิดขึ้นแบบไหนกัน
ผู้เล่นรายหลักของธุรกิจการเงินคงไม่พ้น ธนาคารซึ่งมองการลดใช้เงินสดจะลดต้นทุนทางการเงินของเขาได้ อย่างต้นทุนธุรกรรมบนช่องทางสาขา ถ้าไปฝาก–ถอนเงินที่เคาน์เตอร์ต้นทุนอยู่ที่ 60-80 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าใช้ตู้ฝากหรือ ATM ต้นทุนจะลดลงกว่าครึ่ง ไหนจะลดต้นทุนด้านการขนส่งเงินสด ต้นทุนความเสี่ยงที่เงินจะถูกโจรกรรมเมื่อต้องพาเงินไปใส่ในสาขาในตู้ต่างๆ
แบงก์ชาติรับเงินสดโตช้าลง แต่เงินอิเล็กทรอนิกส์โตพุ่ง
วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ใน 2-3 ปีนี้ แม้ Cashless Society จะไม่ได้เข้ามามีบทบาทจนทำให้เงินสดลดลงมากนัก แต่ในอนาคตระยะยาวก็มีโอกาสที่เงินสดจะลดลงต่อเนื่อง เพราะเห็นทิศทางว่าเงินสดเติบโตช้าลง เมื่อเทียบกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น E-money ฯลฯ) ที่เติบโตสูง
“ตอนนี้เงินสดโตช้าลง ตอนนี้โตอยู่ประมาณ 5%ต่อปี จากในอดีตที่เติบโตปีละ 7-8% ในขณะที่เงินอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นเร็วมาก ยิ่งมีเรื่อง Cashless Society เงินสดน่าจะเติบโตลดลงอีก”
ปัจจุบันเงินสดในระบบคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ไทย ซึ่งคิดง่ายๆคือในระบบมีธนบัตรไทยอยู่ประมาณ 5,600 ฉบับ หรือมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งธนบัตรที่พิมพ์ใหม่ และธนบัตรรูปแบบอื่นๆที่เคยพิมพ์ออกมาใช้ก่อนหน้านี้
“แต่ละปีเรามีการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ไหม่ประมาณ 2,000 ล้านฉบับ หรือประมาณ 6-7 แสนล้านบาทพิมพ์ออกมาด้วย 2 จุดประสงค์ คือ 1. เพื่อมาทดแทนธนบัตรที่หมดอายุการใช้งาน เฉลี่ยที่ 2-3 ปี 2.พิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นตาม GDP ที่เติบโตขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เงินสดยังมีการใช้งานทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์จะมีการใช้กันเยอะในกรุงเทพและหัวเมือง ซึ่งคนไทยยังคุ้นเคยกับการใช้เงินสด
คนไทยมั่นใจเงินสดเพราะ เพราะอัตราการเจอแบงก์ปลอมต่ำกว่า 0.000001%
อัตราการใช้เงินสดยังคงกระจายทั่วประเทศ แต่อัตราการเงินธนบัตรปลอมของไทยก็ยังต่ำมาก เช่น ในธนบัตร 1 ล้านฉบับ มีโอกาสจะเจอธนบัตรปลอมต่ำกว่า 1 ใบ หรือต่ำกว่า 0.000001%
“ต้องยอมรับว่า แบงก์(ธนบัตร)ใหญ่ ก็เป็นเป้าที่คนจะทำแบงก์ปลอมอยู่แล้ว ดังนั้นประชาชนถ้ารับแบงก์มา ก็ต้องสังเกตจุดเฉพาะ 3-4 จุด เช่น ลายน้ำ ความนูนของตัวพิมพ์ ฯลฯ เพราะคนที่ปลอมแบงก์ได้ จะไม่ได้ปลอมเก่งทุกจุด จะทำได้เนียนแค่บางอย่างเท่านั้น”
ว่าแต่แบงก์ใหม่ ใช้งานกับตู้ที่ให้บริการเงินต่างๆ ได้ไหม?
วรพร บอกว่า จากล่าสุดที่ ธปท. จะเริ่มออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ หรือแบบที่ 17 จะออกใช้ครบทุกชนิดราคา (20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท 1,000 บาท) ในวันที่ 28 ก.ค. 2561 นี้ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร (รัชกาลที่ 10)
ฤกษ์ดี 28 ก.ค.นี้ ออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ 500 บาท และ 1,000 บาท
ตอนนี้ทางธปท. อยู่ระหว่างการส่งข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติมของธนบัตรรูปแบบใหม่ให้กับ ทางบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการบริการต่างๆ เช่น ตู้ที่ต้องรับธนบัตรต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถปรับตัวได้ทันกับธนบัตรใหม่ที่จะออกใช้
“เราประสานงานกับบริษัทที่ผลิตเครื่องจักร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ธนบัตรรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องให้เวลาเขาปรับตัวเพราะแต่ละบริษัทมีขั้นตอน และเรื่องที่ต้องทำไม่เท่ากัน“
สรุป
Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด เริ่มรุกเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น แต่บทบาทของเงินสดก็ยังคงสูง เพราะ คนไทยคุ้นเคยในการใช้งาน ที่สำคัญคือมีความมั่นคงเพราะอัตราธนปลอมก็น้อยมาก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา