Casa Lapin ขอตามรอย Blue Bottle Coffee ร้านกาแฟอินดี้ที่ปักธงโกอินเตอร์

ถอดกรณีศึกษาแบรนด์ Casa Lapin ร้านกาแฟอินดี้ แต่ขอเติบโตตามรอยรุ่นพี่อย่าง Blue Bottle Coffee พาแบรนด์โลคอลสยายปีกสู่ต่างแดน เป็น Destination ที่ต่างชาติต้องมา ไม่ใช่แวะแต่ Starbucks!

เกิดจากร้านกาแฟอินดี้ โตขึ้นห้างเบียดรายใหญ่

ร้าน Casa Lapin เหมือนกับร้านกาแฟอินดี้อื่นๆ ที่เกิดจากความฝันของคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักกาแฟ และต่อยอดทำความรักให้เป็นธุรกิจได้ แต่อาจจะมีความฮิป ความอินดี้มากกว่าร้านอื่นๆ เพราะเกิดจากกลุ่มคน “สถาปนิก”

สุรพันธ์ ทันตา หรือพี่ต๋อง หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านได้เล่าให้ฟังว่า เป็นคนชอบกาแฟ รักการดื่มกาแฟ เริ่มต้นจากตอนช่วงหนึ่งได้ไปอยู่เชียงใหม่แล้วไปทำงานที่ร้านกาแฟร้านหนึ่ง ด้วยความที่ร้านเปิด 10 โมงเช้า พี่ต๋องก็จะอาศัยช่วงเวลา 6 โมง-10 โมงเช้า ในการเปิดร้านเล็กๆ ของตัวเองด้านหน้า พอร้านจริงเปิดก็ทำงานปกติ

ร้านเล็กๆ ที่เชียงใหม่จึงกลายเป็นร้านบุกเบิกของ Casa Lapin แต่ไม่ถึงกับสาขาแรกเสียทีเดียว ส่วนที่ใช้ชื่อว่า Casa Lapin เพราะคำว่า Casa แปลว่าบ้าน Lapin แปลว่ากระต่าย พี่ต๋องบอกว่าเปรียบเหมือนตัวเองที่มีกระเป๋าหนึ่งใบใส่อุปกรณ์ทำกาแฟทั้งหมด แล้ว Hopping เหมือนกระต่ายไปหลายๆ ที่ เพื่อทำกาแฟให้คนอื่นดื่ม…

จากนั้นพี่ต๋องได้ย้ายเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ และได้เริ่มเปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ เป็นร้านเล็กๆ พื้นที่แค่ 12 ตารางเมตร เรียกว่าโมเดล Coffee Stand ด้วยความที่ร้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในวงการดีไซเนอร์ด้วยกัน ทำให้มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อปี 2017 ที่แบรนด์เข้าไปเตะตานายทุนอย่าง JAS Asset บริษัทลูกของเจ มาร์ท ด้วยการเข้าถือหุ้น 60% เปิดบริษัท “บีนส์ แอนด์ บราวน์” ในการบริหารธุรกิจอาหาร และร้านกาแฟ ทำให้ Casa Lapin มีการปรับโครงสร้าง ปรับทิศทางอยู่พอสมควร

ที่เห็นได้ชัดคือการขยายสาขา และการทำการตลาด หลายคนจะคิดว่าการมี JAS Asset เข้ามาจะทำให้ Casa Lapin ขยายสาขาได้เร็วขึ้น แต่คำตอบคือไม่… เพราะยังคง Identity ของร้านที่ไม่อยากแมส แต่เลือกโลเคชั่นมากขึ้น

สเต็ปสำคัญการขยายสาขาบุกศูนย์การค้าแห่งแรกที่เซ็นทรัลเวิล์ด เพื่อต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น ขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น

ถ้าถามว่าทำไม JAS Asset ถึงสนใจ Casa Lapin “เอกชัย สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด บอกว่า

“รู้จัก และชื่นชอบแบรนด์นี้อยู่แล้ว เคยร่วมงานกันอยู่ แล้วมองเห็น Value บางอย่างในตัวแบรนด์ ถามใครก็บอกว่าดี ถามคนดื่มกาแฟก็บอกว่าดี แล้วมีวิสัยทัศน์ไปทางเดียวกันที่ว่าอยากสร้างแบรนด์ไประดับโลกให้ได้ อยากให้คนมาไทยมากิน Casa Lapin ไม่ใช่ไป Starbuck ถึงแม้แบรนด์ไม่ใหญ่มาก แต่เป็นร้านที่ทุกคนต้องมา”

อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญคือ JAS Asset ต้องการขยายขาธุรกิจมายังอาหารมากขึ้น เป็นการบริหารความเสี่ยง จากเดิมทีดูแลธุรกิจรีเทลในเครือของเจมาร์ท เจ้าของโครงการ The Jas, IT Junction และ J.Market ซึ่งต้องบอกว่ายุคนี้ธุรกิจรีเทลไม่ได้เฟื้องฟูเหมือนยุกคก่อนๆ คนเข้าคอมมูนิตี้มอลล์ไม่เหมือนเดิม

ตามรอย Blue Bottle Coffee พาแบรนด์โลคอลไปโตโกบอล

Casa Lapin มองแบรนด์รุ่นพี่อย่าง Blue Bottle Coffee เป็น Role Model ในการทำธุรกิจ เพราะเป็นร้านกาแฟอินดี้เช่นเดียวกัน แต่สามารถเติบโตจนขยายสาขาไปต่างประเทศ แถมล่าสุดยังเตะตาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nestlé ด้วยการเข้าซื้อกิจการในสัดส่วน 70% มูลค่าราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

Blue Bottle Coffee เป็นร้านกาแฟสัญชาติอเมริกัน ต้นกำเนิดในรัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2002 หรือมีอายุได้ 16 ปีแล้ว เมื่อสิ้นปี 2016 มีสาขารวมทั้งหมด 29 สาขา แต่สิ้นปี 2017 ที่ผ่านมาได้มีการตั้งเป้าไว้มากกว่า 50 สาขา ในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เน้นโลเคชั่นในไม่กี่เมือง ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, วอชิงตัน, ไมอามี, บอสตัน, เกียวโต, โกเบ และโตเกียว

ร้านนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นร้านชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็น Destination ที่เมื่อใครไปเยือนญี่ปุ่นจะต้องไปร้าน Blue Bottle Coffee ให้ได้

เอกชัยบอกว่าที่มอง Blue Bottle Coffee เป็นโรลโมเดลเพราะอยากเป็นร้านกาแฟที่เป็นแบรนด์ไทย โกอินเตอร์ไปต่างประเทศบ้าง ได้เห็นแบรนด์ร้านอาหารอย่าง Greyhound ไปถึงลอนดอน ร้านบ้านหญิงไปสิงคโปร์ MK ก็ไปต่างประเทศเช่นกัน แต่ร้านกาแฟมีเพียง Amazon ที่ไปลาว ซึ่งก็อยู่ในตลาดแมส ยังไม่มีร้านอินดี้ที่ไปต่างประเทศเลย

“เสน่ห์ของ Blue Bottle Coffee เป็น Specialty Coffee ที่เน้นกาแฟแบบจริงจัง พนักงานบริการดี กาแฟอร่อย ร้านสวยสไตล์มินิมอล มีโปรดักส์กาแฟเยอะ มี Cold Brew ที่กลับไปทำที่บ้านได้ โลเคชั่นส่วนใหญ่เป็นสแตนอโลน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทั้งนั้น”

การที่จะตามรอยรุ่นพี่อย่าง Blue Bottle Coffee เอกชัยยอมรับว่าต้องทำแบรนด์ให้แข็งแกร่งกว่านี้ ต้องทำให้เป็น Destination ให้ได้ แต่เมื่อเทียบแล้ว Blue Bottle Coffee มีอายุ 16 ปี กับ Casa Lapin อายุ 6 ปี ยังมีเวลาในการเรียนรู้ และทำตลาดอีกเยอะ

“เราจะไม่เน้นขยายสาขาเยอะ ปีละ 3-4 สาขา แต่เข้าไปตามแหล่งไพร์มโลเคชั่น หรือฮิปสปอตจริงๆ อยากขยายด้วยคุณภาพให้มีลูกค้าเต็นร้าน เป็น Destination ในแต่ละที่ ซึ่ง Blue Bottle Coffee ก็ไม่เน้นขยายเยอะ ตอนนี้ไม่ถึง 50 สาขา ในเมืองนึงไม่เกิน 5 สาขา ขอลองตลาดก่อน 3 ปีแล้วค่อยไปต่างประเทศ”

ต้องเป็น Destination ในไทย ไม่ใช่แวะแต่ Starbucks

ความฝันของ Casa Lapin ก็คงเหมือนกับร้าน Blue Bottle Coffee ที่เวลาคนไปญี่ปุ่นก็ต้องไปเยือนร้านนี้ อยากเป็นร้านกาแฟในไทยที่นักท่องเที่ยวต้องตามหาเมื่อมาไทย ไม่ใช่มาไทยแล้วเข้าแต่ร้าน Starbucks

“มีแต่แบรนด์นอกเข้ามาทั้งนั้น แต่เราส่งแบรนด์ออกไปต่างประเทศน้อยมาก อยากเป็นตัวอย่างของแบรนด์ร้านกาแฟไทย ส่งออกไปได้ต่างประเทศไทย หรือคนรู้จักแล้วมาหาที่ไทยได้”

ทางด้านพี่ต๋องเสริมว่า “แบรนด์กาแฟดังๆ ที่รู้จักมาจากอเมริกา หรือยุโรปทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วประเทศเหล่านี้ไม่สามารถปลูกกาแฟเองได้ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ แต่ไทยมีกาแฟปลูกเองได้ คั่วได้ สามารถทำตั้งแต่ต้นจนจบตรงนี้เป็นจุดแข็งได้” 

แค่ Passion ไม่พอ… ต้องสายป่านยาว คาแร็คเตอร์ชัด

ร้านกาแฟยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจในการทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้ได้เห็นร้านกาแฟเปิดใหม่ในแต่ละปีสูงขึ้น แต่ใช่ว่าทุกร้านจะอยู่รอด เพราะแค่ Passion แค่ใจรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีหัวธุรกิจ สำคัญคือเงินทุน และต้องมีเอกลักษณ์

เอกชัยเปรียบ Casa Lapin เป็นคนด้วยคาแรคเตอร์เป็นหนุ่มเมโทร หนุ่มสังคม ชอบศิลปะ เพราะร้านเติบโตมาจากคนกลุ่มติสท์ๆ ทำให้มีคาแรคเตอร์ชัดในตัวเอง

ส่วนของการตกแต่งร้านได้ทำคอนเซ็ปต์เหมือนอยู่ในบ้าน เพราะเทรนด์ของลูกค้าตอนนี้ไม่ได้มาแค่ดื่มกาแฟ แต่มาเสพบรรยากาศ มานั่งทำงาน เป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ บางสาขามีขายเบียร์ตอนเย็นด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการได้ทั้งวัน

“Key Success คือ ร้านมีเอกลักษณ์ โปรดักส์ดีทำให้คนก็เข้ามาตลอด จะเห็นว่าบางร้านสวยแต่กาแฟไม่อร่อย บางที่กาแฟดีแต่พื้นที่เล็ก พยายามทำให้ Casa Lapin ตอบโจทย์เรื่องไฟล์สไตล์ มีสเปซให้ทำงาน มีกาแฟเป็นตัวเชื่อมไลฟ์สไตล์ที่คนเข้ามาเสพในร้าน”

ทางด้านพี่ต๋องเสริมอีกว่า “จะทำร้านให้สำเร็จ จุดยืนต้องชัด เมื่อโตขึ้นก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ ต้องมีเงินทุน แค่ Passion อย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องมีคนมาเสริมด้านธุรกิจ ต้องมีมืออาชีพมาบริหารถึงจะเติบโตไปพร้อมกันได้”

สำหรับในตอนนี้การขยายร้านของ Casa Lapin ยังเป็นโมเดลการลงทุนเองทั้งหมด เพราะ JAS Asset อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เอกชัยบอกว่าถ้ามีการเติบโตด้วยดีจะนำบีนส์ แอนด์ บราวน์เข้าตลาดภายใน 5 ปี จะเป็นอีกกลไกในการระดมทุนในการขยายสาขาได้เต็มที่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา