เรื่องนโยบายต่างๆ ของ Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะน่าจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า
เช่น การออกมาทวีต “NO WAY” ต่อแผนการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ Corolla แห่งใหม่ของ Toyota ที่เม็กซิโก ซึ่งระบุว่าเตรียมเจอกับภาษีนำเข้าชุดใหญ่แน่นอน ซึ่งทางที่ดีควรมาตั้งโรงงานในสหรัฐจะดีกว่า
Toyota Motor said will build a new plant in Baja, Mexico, to build Corolla cars for U.S. NO WAY! Build plant in U.S. or pay big border tax.
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) January 5, 2017
นั่นทำให้ Akio Toyoda ประธานของ Toyota Motor Corp หนึ่งในบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงอีก 5 ปีต่อจากนี้
สำหรับ Toyota ประกาศว่ามีการจ้างงานกว่า 136,000 ตำแหน่งในสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจำหน่ายด้วย ขณะที่โรงงานใหม่ในเม็กซิโกนั้น Toyota วางแผนว่าจะลงทุนด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเริ่มการผลิตรถยนต์รุ่น Corolla กว่า 200,00 คันในปี 2019 ดังนั้นจึงกลับไปใช้โรงงานในสหรัฐฯ ต่อไปตามเดิม
การทวีตของ Trump ก่อนหน้านี้มีผลถึงบริษัทผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท Fiat-Chrysler ก็ประกาศลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงาน 2,000 ตำแหน่งที่โรงงาน 2 แห่งในสหรัฐ
ขณะที่ Ford ได้ประกาศยุติโครงการโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในเม็กซิโกไปเรียบร้อย
เรื่องทั้งหมดนี้ สร้างความกังวลใจและส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจและนักลงทุนหลายประเทศ เช่น จีน, เกาหลีและญี่ปุ่น และอาจกระทบกับแผนการผลิตรถยนต์ทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันถึง ข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ซึ่งมีผลโดยตรงระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก
ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ผลิตวางแผนผลิตรถยนต์รุ่นหนึ่งๆ จากโรงงานในไม่กี่ประเทศเพื่อส่งออกไปทั่วโลก และใช้ชิ้นส่วนร่วมกันระหว่างรุ่นต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการผลิตปริมาณมาก ทำให้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ไม่กี่รายที่จะผลิตชิ้นส่วนในปริมาณมากตามไปด้วย
แต่นโยบายของ Trump จะเน้นให้ลดการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศอื่น อาจส่งผลให้มีการชะลอและปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในประเทศอื่นรวมถึงไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการ Eco car ที่ปัจจุบันมีการพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก ประมาณ 300,000 คันต่อปี ซึ่งมากกว่ายอดขายในประเทศกว่าสามเท่า ในจำนวนนี้มีรถยนต์ Eco car ที่ส่งไปสหรัฐฯ โดยตรงถึง 32,000 คัน
SCB EIC ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ปัจจุบันไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ตกแต่งไม่รวมยางล้อไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงสุด คิดเป็น 13% ของทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปและสายไฟ และหากรวมยางล้อแล้วจะมีสัดส่วนถึง 18% การเพิ่มภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกอาจส่งผลให้การนำเข้าชิ้นส่วนจากไทยเพิ่มขึ้น คล้ายกับกรณีที่ยางล้อจีนโดนมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดซึ่งทำให้มีการนำเข้าจากไทยมากขึ้น แต่หากมีการจัดตั้งโรงงานใหม่ที่สหรัฐฯ ในภายหลังปริมาณที่เพิ่มมานี้ก็จะหายไป รวมถึงปริมาณการผลิตที่จะหายไปจากจำนวนรถยนต์ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย
ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนเร่งพัฒนาการผลิตชิ้นส่วน ODM และ REM หรือขยายธุรกิจด้านบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือความเสี่ยงจากการสูญเสียตลาดส่งออก ควรลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบชิ้นส่วนได้ด้วยตัวเอง (ODM) ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ต่างชาติ เพราะค่ายรถยนต์จะยังมีความจำเป็นในการใช้ชิ้นส่วนนั้นๆ อยู่
แม้ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตก็ตาม ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ขนาดเล็กกว่าอาจเน้นการพัฒนาด้านชิ้นส่วนทดแทนและอุปกรณ์ตกแต่ง (REM) สำหรับตลาดภายในประเทศหรือในภูมิภาค รวมถึงธุรกิจด้านบริการอย่างการซ่อมบำรุง
ที่มา: wsj.com, SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา