Carlos Ghosn อดีตซีอีโอ Nissan หลบหนีคดีจากญี่ปุ่น ไปยังเลบานอนบ้านเกิด

กลายเป็นดราม่าระดับโลกรับสิ้นปี 2019 หลังจาก Carlos Ghosn อดีตซีอีโอผู้ยิ่งใหญ่ของ Nissan ที่โดนคดีคอร์รัปชันเมื่อปี 2018 และโดนควบคุมตัวในบ้านพักที่ญี่ปุ่น สามารถหลบหนีออกนอกประเทศ กลับไปยังบ้านเกิดที่เลบานอนได้สำเร็จ

Carlos Ghosn คาร์ลอส กอส์น
ภาพจาก Getty Images

Carlos Ghosn ซีอีโอผู้ยิ่งใหญ่ของ Renault-Nissan

Ghosn เป็นชาวเลบานอนที่เกิดในบราซิล แล้วสร้างชื่อจากการทำงานกับบริษัทฝรั่งเศสทั้ง Michelin และ Renault ก่อนผงาดขึ้นเป็นซีอีโอของ Nissan หลังการควบกิจการกับ Renault และสร้างอาณาจักรรถยนต์ กลุ่มพันธมิตร Renault-Nissan-Mitsubishi ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อปลายปี 2018 เขาถูกอัยการญี่ปุ่นควบคุมตัว จากคดีรายงานตัวเลขรายได้ไม่ตรงตามจริง และมีพฤติกรรมนำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว เช่น การซื้อบ้านหรูตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกให้เขาพักอาศัย

การจับกุม Ghosn ทำให้เครือ Renault-Nissan-Mitsubishi ระส่ำหนัก และเกิดสงครามภายในระหว่างผู้บริหารฝักฝ่ายต่างๆ รวมถึงตัวเลขรายได้ที่ตกลงจากปีก่อนอย่างชัดเจน ส่วนตัวของ Ghosn ยังถูกคุมตัวในบ้านพัก (house arrest) ระหว่างการรอพิจารณาคดีในศาลของญี่ปุ่น

Carlos Ghosn คาร์ลอส กอส์น
ภาพจาก Getty Images

หลบหนีจากการคุมตัวในบ้านพักในญี่ปุ่น

แต่ก่อนสิ้นปี 2019 เพียงไม่กี่วัน จู่ๆ Ghosn ที่ถูกคุมตัวอยู่ในบ้านอย่างเข้มงวด ก็ไปโผล่ที่ประเทศเลบานอนบ้านเกิด และออกมาบอกด้วยว่าคดีของเขาเป็นคดีทางการเมืองที่ไม่ยุติธรรม จึงหลบหนีออกจากญี่ปุ่นมายังเลบานอน

การหลบหนีคดีของ Ghosn สร้างความสั่นสะเทือนให้กับกลไกระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นอย่างแรง ทั้งประเด็นว่า Ghosn หลบหนีไปได้อย่างไร และคดีของ Ghosn จะเป็นอย่างไรต่อไป

ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดยืนยันว่า Ghosn หลบหนีไปได้อย่างไรกันแน่ มีเพียงแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น โดยสภาพแวดล้อมของเขาขณะถูกคุมตัวคือมีการตรวจสอบการเข้าออกบ้านอย่างเข้มงวด และพาสปอร์ตของเขาก็อยู่กับทนายความซะด้วย นอกจากนี้ Ghosn ยังเป็นนักธุรกิจผู้โด่งดังของประเทศญี่ปุ่น ไม่มีใครไม่รู้จักหน้าตาของเขา การหลบหนีออกมาตามที่สาธารณะ (เช่น สนามบิน) ย่อมมีโอกาสสูงที่จะถูกคนรู้จัก

ข้อมูลหนึ่งที่พูดกันในสื่อเลบานอนคือ Ghosn เชิญวงดนตรีมาเล่นที่บ้าน และเขาหลบหนีออกมาในกล่องอุปกรณ์ดนตรี พร้อมกับคอนเทนเนอร์ของวงดนตรีนั้น จากนั้นเขาเดินทางออกจากญี่ปุ่นผ่านสนามบินคันไซในโอซาก้า ขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว แวะพักที่ตุรกีก่อนเข้าเลบานอนด้วยพาสปอร์ตฝรั่งเศส (เขาถือพาสปอร์ต 3 เล่มอยู่ก่อนคือ เลบานอน ฝรั่งเศส บราซิล แต่ทั้งหมดอยู่กับทนายความ)

Carlos Ghosn ที่ประเทศนอร์เวย์ในปี 2013 – ภาพโดย Norsk Elbilforening

รัฐบาลเลบานอนปกป้อง โอกาสส่งตัวกลับญี่ปุ่นน้อย

รัฐบาลเลบานอนมีท่าทีคุ้มครองเขาอย่างชัดเจน โดย Ghosn เข้าพบประธานาธิบดี Michel Aoun ทันทีหลังเดินทางถึงเลบานอน ส่วนหน่วยงานด้านความมั่นคงของเลบานอนก็ระบุว่า Ghosn เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย

แม้แต่ทีมทนายความของเขาซึ่งถือพาสปอร์ตของเขาไว้ ก็ยังไม่ทราบเรื่องการหลบหนีของเขาเช่นกัน และแสดงความเห็นว่าการหลบหนีครั้งนี้ต้องมีการทำกันเป็นขบวนการ ที่มีคนเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก

หลังการหลบหนีของ Ghosn ศาลเขตโตเกียวยึดเงินประกันของเขามูลค่า 1.5 พันล้านเยน (ประมาณ 410 ล้านบาท) และคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะขอให้เลบานอนส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมา แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากเพราะทั้งสองประเทศไม่มีสนธิสัญญาด้านส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

ตามกฎหมายญี่ปุ่น การพิจารณาคดีอาญาจำเป็นต้องมีจำเลยมาขึ้นศาลด้วย กรณีของ Ghosn ที่หนีออกนอกประเทศไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่าคดีของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่มา – Nikkei Asian Review, Financial Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา