ส่องนโยบายสนับสนุนซื้อคาร์ซีททั่วโลก นอกจากบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำก็เป็นเรื่องสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กับเด็กอย่างทั่วถึง
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พรบ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 โดยมีสาระสำคัญที่เพิ่มเข้ามาคือ การระบุให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือ มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท
เว้นแต่มีเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ก็ต้องมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยหากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 123 วรรค 1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
เอาเข้าจริงนี่คือข้อบังคับที่จริงจังมากๆ ในต่างประเทศ เห็นได้ชัดจากข้อบังคับต่างที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการระวางโทษปรับสูง (เช่น ในฝรั่งเศสปรับประมาณ 5,000 บาท) ไปจนถึงการที่โรงพยาบาลจะไม่อนุญาตให้นำทารกที่เพิ่งคลอดกลับบ้านหากผู้ปกครองไม่ได้ติดตั้งคาร์ซีทเอาไว้ในรถเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม มิติหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งในเรื่องนี้หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ก็มีนโยบายออกมาสนับสนุนเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับบุตรได้อย่างทั่วถึง
วันนี้ Brand Inside จะพาไปดูนโยบายสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องคาร์ซีท เพื่อชี้ให้เห็นว่านอกจากจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว การออกนโยบายสนับสนุนให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ในการส่งเสริมความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลให้กับเด็กอย่างทั่วถึง
มาเลเซีย ออกให้คนละครึ่ง
ฟังไม่ผิด รัฐบาลออกค่าคาร์ซีทให้ 50% จริงๆ โดยมาเลเซียเพิ่งจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไปเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมานี้นี่เอง
เงื่อนไขของโครงการนี้ก็คือรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าคาร์ซีท 50% แต่จ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 150 ริงกิต (ประมาณ 1,200 บาท) โดยครอบครัวที่มีสิทธิสมัครรับความช่วยเหลือจะต้องเป็นครอบครัวที่อยู่ในกลุ่ม B40 หรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยสุด 40% ล่างของประเทศ หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 4,850 ริงกิต (38,325 บาท)
สหรัฐฯ ให้ฟรี ให้ยืม หรือขายราคาถูก แล้วแต่รัฐ
ในสหรัฐฯ มีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กตั้งแต่ตั้งอยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 5 ปี คือหน่วยบริการอาหารและโภชนาการ ภายใต้กำกับกระทรวงเกษตร โดยความปลอดภัยบนท้องถนนก็ถือเป็นหนึ่งในมิติของความปลอดภัยที่หน่วยงานนี้ให้ความช่วยเหลือ
ในเรื่องของความช่วยเหลือด้านคาร์ซีท หน่วยงานนี้มีโครงการ Women, Infants, and Children หรือ WIC ช่วยให้ความสนับสนุนสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำและต้องการความช่วยเหลือ โดยรูปแบบของความช่วยเหลือจะแตกต่างออกไปกันตามมลรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการแจกฟรี จำหน่ายในราคาไม่เกิน 20 ดอลลาร์ (700บาท) หรือให้ยืม เป็นต้น
นิวซีแลนด์ ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
ในกรณีที่ผู้ที่มีรายได้ต่ำในประเทศนิวซีแลนด์มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจำเป็นโดยฉุกเฉิน ไม่สามารถจ่ายได้ นิวซีแลนด์จะมีสำนักงานงานและรายได้ภายใต้กำกับกระทรวงพัฒนาสังคมคอยช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน
ทั้งนี้หน่วยจะพิจารณาจากรายได้และต้องแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถซื้อสินค้าจำเป็นชิ้นนั้นได้ โดยจะช่วยเหลือในรูปแบบออกให้ก่อนหากคนคนนั้นได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอยู่แล้ว (เช่น เงินว่างงาน หรือ เงินบำนาญ) หรือรัฐออกให้หากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
ทั้งนี้ มีหลายอย่างที่เข้าเกณฑ์ขอรับเงินช่วยเหลือ เช่น ค่าเล่าเรียน เครื่องช่วยฟัง ค่าสาธารณูปโภค แว่นตา โดยคาร์ซีทก็เป็นหนึ่งในนั้น
ที่มา – Bjak, WIC, Work and Income
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา