‘รถเก่าแลกรถใหม่’ แนวคิดฟื้นอุตฯ รถยนต์ไทย เพิ่มยอดได้แค่ไหน อะไรบ้างที่ควรพิจารณา

‘รถเก่าแลกรถใหม่’ ประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ คือแนวคิดของการนำรถยนต์เก่าอายุมากกว่า 10 ปี หรือ 20 ปี ไปกำจัดซาก เพื่อแลกซื้อรถใหม่โดยมีส่วนลดมาสนับสนุนตามแต่กำหนด ซึ่งรถใหม่นี้จะเป็นรถยนต์ที่นวัตกรรมใหม่กว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

แนวคิดนี้มาจากไหน ทำไมต้องแลกรถเก่า?

คำตอบสั้นๆ ก็คือการผลิตรถยนต์ในประเทศลดลงจึงต้องหาแนวทางมากระตุ้นการขาย

ในปี 2568 นี้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตที่ส่งผลให้การผลิตลดลง สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียของคนไทย ที่ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูงขึ้น รวมถึงกระแสการแข่งขันของรถ EV จีน ที่เข้ามาในประเทศไทย 

ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าในปีนี้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศอาจมีไม่ถึง 1.45 ล้านคัน ลดลงจากค่าเฉลี่ยช่วงหลังวิกฤตโควิด ถึง 22% เป็นที่มาของแนวคิดของการนำรถยนต์เก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นการขายและเพิ่มการผลิตในประเทศ

ต่างประเทศว่าไง ทำแล้วได้ผลจริงไหม

โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในหลายประเทศก็เคยออกโครงการนี้มาแล้ว อย่างในช่วงปี 2551-2552 ที่หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และอเมริกา ผลก็คือโครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นยอดขายได้จริง

ถึงแม้จะขายได้ แต่หัวใจสำคัญของโครงการ คือการแก้ไขปัญหาการผลิตรถยนต์ ‘ในประเทศ’ ซึ่งกลับกลายเป็นว่ายอดขายเพิ่มขึ้นจริง แต่ดันไม่สัมพันธ์กับยอดการผลิตในประเทศเสียอย่างนั้น เนื่องจากมีปัจจัยของการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ ทำให้โครงการนี้อาจแก้ปัญหาได้ไม่ตามเป้าเท่าที่ควร 

 

หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริงในไทย อะไรบ้างที่ควรระวัง

แม้จะเป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่ถูกสานต่อจากรัฐบาล แต่หากว่านโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย อะไรบ้างที่ควรระวัง ในเมื่อตัวอย่างจากต่างประเทศได้ทำให้เราเห็นแล้วว่ามีโอกาสที่ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามเป้า สำหรับข้อกังวลนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ชี้ประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมไว้ 5 ข้อด้วยกัน

  1. คุณสมบัติของรถเก่าและรถใหม่: จากเคสตัวอย่างในต่างประเทศ ชัดแล้วว่าหากไม่มีข้อกำหนดที่รัดกุม การกระตุ้นการผลิตรถยนต์ในประเทศอาจทำได้ไม่ถึงเป้า ควรมีการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมเช่น รถใหม่ ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศ 
  1. การพิจารณาเรื่องภาษีรถยนต์ประจำปีที่สอดคล้องกับอายุการใช้งานและการปล่อยมลพิษ อาจเป็นอีกทางที่ผลักดันให้โครงการสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอัตราภาษีรถยนต์พบว่าถูกลงทุกปีนับจากปีที่ 6 จนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปีที่ 10
  1. การเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ จะทำให้กระแสต่อต้านน้อยกว่าการใช้กฎหมายบังคับ 
  1. ภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกแบ่ง: การที่ผู้เข้าร่วมโครงการมีภาระในการผ่อนจ่ายรถยนต์ (ถึงแม้จะได้ส่วนลดก็ตาม) ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและบริการในภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว  
  1. ตลาดรถมือสองเสี่ยงราคาตก: หากว่าการแลกรถเก่าสามารถเข้าสู่ระบบรถมือ 2 ได้ อาจทำให้ราคารถมือสองลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน หากรถเก่าต้องถูกกำจัดเท่านั้น ราคารถมือสองก็มีโอกาสพุ่งสูงจากอุปทานที่ลดลงเช่นกัน 

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา