ทุนนิยม 101: ทบทวนอดีต มองไปข้างหน้า ตรงไหนคืออนาคตทุนนิยมไทย กับ ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

เรารู้ว่าเศรษฐกิจถูกผูกขาด แต่เราไม่เห็นหนทางชนะ ราวกับว่ามันคือความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว
เมื่อเส้นทางข้างหน้าดูมืดมน เราควรมองอนาคตทุนนิยมไทยอย่างไรดี

capitalism 101

เราอยู่ในโลกทุนนิยม แล้วทุนนิยมเหมือนจะเป็นปัญหาเสียด้วย

ทุนนิยม ถูกพูดถึงในเชิงวิพากษ์มากขึ้น พร้อมๆ กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้มข้นขึ้น ผู้คนพยายามเชื่อมโยงหาต้นสายปลายเหตุของความล้มเหลวของการเมืองไทย จนสาวไปเจอหนึ่งใน (อีกหลายๆ) ปัญหาคือทุนนิยมผูกขาด

ทุนนิยมผูกขาด เศรษฐกิจผูกขาด คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนนอนเราต้องซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ไม่กี่เจ้า ไม่ใช่แค่สัมผัสได้ชัดเจน แต่นี่เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครๆ ก็พูดถึง น่าเศร้าที่หลายคนที่ไม่เห็นแสงสว่างในการจัดการปัญหาผูกขาด จนถึงขั้นที่มองการผูกขาดราวกับเป็นสภาพปกติที่เข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

กรณีที่ชัดเจนจริงๆ ในช่วงต้นปี 2021 คือการควบรวม ซีพี-โลตัส จนมีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยซีพีจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 69.3% เป็น 83.97%  ตามข้อมูลของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า นี่คือขนาดส่วนแบ่งตลาดที่มหาศาลมากๆ 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์ทุนนิยมอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน แต่เมื่อพูดลงไปลึกๆ แล้ว เรากลับไม่มีนิยามที่ชัดเจนหรือไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าอะไรคือทุนนิยม เราพอมองภาพออกว่ามันคืออะไรแต่เหมือนนิยามยังคงคลุมเครือ และนี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่หากจะแก้ไขอะไรโดยยังไม่รู้จักมันอย่างถ่องแท้

คงจะดีกว่า หากเราได้เข้าไปสำรวจคำอธิบายของระบบทุนนิยม ดูว่าภายในระบบนี้แต่ละหน่วยของสังคมถูกจัดวางกันอยู่อย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าสังคมที่เราอยากแก้มีหน้าตาอย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน และช่วยให้จินตนาการต่อไปได้ว่าต้องทำยังไงเราถึงจะไปสู่สังคมที่ดีไปกว่านี้ได้

Brand Inside ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นผู้นำทางในการสำรวจตรวจดูนิยามของทุนนิยม หันกลับมามองทุนนิยมไทย แล้วร่วมกันคิดว่าปัญหาและทางออกของทุนนิยมไทยอยู่ตรงไหน

Asst.Prof. Veerayooth Kanchoochat, Ph.D.
Veerayooth Kanchoochat, Associate Professor of Political Economy at the National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo, JAPAN

ทุนนิยมคืออะไร? สำหรับคนไม่เข้าใจเศรษฐกิจการเมือง จะเข้าใจทุนนิยม ต้องเข้าใจอะไรบ้าง

อ. วีระยุทธเสนอว่า สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเศรษฐกิจการเมืองมาก่อน การจะทำความเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจเป็นแบบไหนให้ลองดูว่าในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ นั้น

    1. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของใคร
    2. ทำการผลิตไปเพื่ออะไร

โดย แก่นของระบบทุนนิยม คือ การที่แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และสามารถนำทรัพย์สินเข้าสู่การผลิตเพื่อทำกำไรต่อได้

หากมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก อาจารย์แนะว่าให้นำนิยามของทุนนิยมข้างต้นไปวางทาบกับระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เช่น สังคมนิยม ที่ส่วนรวมหรือรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน ปริมาณการผลิตเป็นไปตามที่รัฐส่วนกลางกำหนด ในขณะที่ ระบบเกษตรแบบยังชีพ จะผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเท่านั้น

ทุนนิยมหลากสีสัน: เมื่อทุนนิยมไม่ได้มีแบบเดียว

ทุนนิยมทั่วโลกเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “อวัยวะภายใน” สำคัญๆ ของสังคม คือ ระบบการศึกษา ตลาดทุน ตลาดแรงงาน องค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ทุนนิยมของแต่ละประเทศจะทำงานได้ดีแค่ไหน เติบโตไปทิศทางใด ก็ขึ้นกับว่าอวัยวะภายในเหล่านี้ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร

ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ คือ โครงสร้างของระบบทุนนิยม ที่ต้องเน้นย้ำคือ แต่ละประเทศก็มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะภายในเหล่านี้ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจปูทางและก่อรูปก่อร่างมาแบบไหน

ตัวอย่างเช่น ทุนนิยมเสรี แบบอเมริกันและอังกฤษ อวัยวะภายในจะมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านกลไกตลาดเป็นหลัก เอกชนแข่งขันสูงทั้งในตลาดสินค้าบริการและตลาดแรงงาน การต่อรองราคาและค่าจ้างค่อนข้างเสรี และทำได้ระดับปัจเจก 

นี่คือตัวอย่างของรูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยทางสังคมภายใต้ทุนนิยมเสรี

  • ธุรกิจ ขับเคลื่อนด้วยการแข่งขัน เน้นการทำกำไรระยะสั้น
  • ระบบการศึกษา ให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยและความสามารถที่ข้ามสาขาได้
  • การระดมทุน มักทำผ่านตลาดหุ้นตลาดทุน ธนาคารดั้งเดิมลดความสำคัญลง
  • รัฐ ทำมีหน้าที่ออกกฎหมายสนับสนุนการแข่งขันเสรี ต่อต้านการผูกขาด 
NYSE New York Stock Exchange ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ เรายังมี ทุนนิยมแบบเน้นความร่วมมือ สไตล์เยอรมนีและญี่ปุ่น ที่เน้นความร่วมมือระหว่างธุรกิจในกลุ่มเดียวกันมากกว่าแบบอเมริกัน เน้นการวางเป้าหมายระยะยาวมากกว่า

รูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยทางสังคมภายใต้ทุนนิยมแบบเน้นความร่วมมือเช่น

  • ธุรกิจ ร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือ ไปจนถึงแชร์ข้อมูลระหว่างบริษัทในธุรกิจเดียวกัน
  • ระบบการศึกษา ยังคงให้ความสำคัญอาชีวศึกษา ที่เน้นความชำนาญเฉพาะทาง เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้า และมีความร่วมมือใกล้ชิดกับกิจการใหญ่ๆ ของประเทศ 
  • การระดมทุน ระบบธนาคารยังคงมีบทบาทสำคัญ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มักมีเครือข่ายร่วมกันผ่านธนาคาร 
  • รัฐ มีบทบาทกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายมากกว่าแบบอเมริกัน

เห็นได้ชัดว่าประเทศทุนนิยมทุกประเทศต่างมีกรรมสิทธิ์อยู่ในมือเอกชนเหมือนกัน และมีการผลิตเพื่อทำกำไรเหมือนกัน (แก่นของระบบทุนนิยมเหมือนกัน) แต่โครงสร้างที่ขับเคลื่อนการผลิตเพื่อทำกำไรของเอกชนต่างกัน

โครงสร้างของทุนนิยม ในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์การพัฒนาของแต่ละสังคม เช่น คนสหรัฐฯ หวาดกลัวรัฐอยู่เป็นทุนเดิม ส่วนทุนนิยมในเยอรมนีก่อตัวในช่วงที่สมาคมช่างฝีมือมีอิทธิพลสูง ในขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การเมืองแบบเผด็จการ แต่ก็มีชาตินิยมสูง บทบาทของรัฐในการสร้างอุตสาหกรรมของตนเองจึงเข้มข้น

สรุปง่ายๆ ว่า “ทุนนิยมไม่ได้มีแบบเดียว” แต่แตกต่างกันไปตามเรื่องราวที่ล้อมอยู่รายรอบทุนนิยม

เราจะเริ่มวิพากษ์ทุนนิยมจากจุดไหนดี

พูดได้ว่า เวลาเราวิพากษ์ทุนนิยมโดยส่วนใหญ่ สิ่งที่เราวิพากษ์กันเป็นวงกว้าง ณ ตอนนี้ คือ ผลลัพธ์บางด้านของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็น “นายทุนเอาเปรียบ” หรือ “รัฐบาลเอื้อกลุ่มทุน” ส่วน แก่นของทุนนิยม อย่างกรรมสิทธิ์ของปัจเจกและการผลิตเพื่อกำไรตกอยู่ในการถกเถียงน้อยและจำกัดกว่านั้น

ถ้าไม่ต้องการทุนนิยม แปลว่าเราจะยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ทั้งหมดเลยหรือไม่ 

แล้วเราจะใช้ระบบอะไรแทน ทรัพย์สินที่มีอยู่ในสังคมจะกลายเป็นของใคร แล้วจะทำอย่างไรกับสินค้านำเข้าที่เราผลิตเองไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกแค่ไหน 

ทั้งหมดนี้คือคำถามใหญ่ หากต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจกันจริงๆ

แต่ถ้าจริงๆ แล้วปัญหามันอาจจะอยู่ที่ ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างของระบบทุนนิยม เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ถึงที่สุดแล้ว ทุนนิยมคือสิ่งประดิษฐ์จากน้ำมือมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการตามกาลเวลา เราเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่ใช่ความจริงทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อทุนนิยมมีปัญหา เราแก้ไขได้ ลองดูให้ดีว่ามันเกิดจากความบกพร่องของอวัยวะภายในส่วนไหน 

แน่นอนว่ามันไม่ง่าย อำนาจทุนใหญ่มีอยู่จริง การเมืองที่อิงกับนายทุนก็มีอยู่จริง หลายอย่างฝังรากลึกและมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่เป็นเดิมพัน

แต่เราต้องแยกให้ออกว่าเราจะโค่นทุนนิยมทั้งระบบ หรือมองให้ออกว่าปัญหาอยู่ที่ไหนแล้วโฟกัสไปที่จุดนั้น เช่น การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การเมืองอุปถัมภ์ ก็ว่ากันไป

capitalism protest

ฝ่ายซ้ายในยุโรปจำนวนมากก็ไม่พอใจทุนนิยม แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถเปลี่ยนทั้งโครงสร้างได้ เพราะยังไม่มีข้อเสนอใหญ่ขนาดนั้น แต่ก็เสนอให้ใช้ระบบกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวมมากขึ้นโดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ระบบการศึกษา ระบบบริการสุขภาพ เคหสถานบางส่วน แทนที่ทุกอย่างจะเป็นของปัจเจกเท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน ก็ปรับเปลี่ยนระบบภาษีให้มันช่วยลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีอัตราก้าวหน้า แล้วก็เพิ่มสวัสดิการสังคมให้คนรู้สึกมั่นคงกับชีวิตมากขึ้น

มาถึงตรงนี้ อ. วีระยุทธ ได้มอบแว่นที่เราสามารถนำไปใช้มองภาพของระบบทุนนิยมที่มีอยู่อย่างหลากสีสันได้อย่างกระจ่างแจ้ง รวมถึงเห็นถึงพลวัตที่เคลื่อนไหวไปมาของระบบทุนนิยมแต่ละแบบ

คำถามคือ แล้วทุนนิยมไทยคืออะไร ทำไมถึงมาอยู่ในจุดนี้ได้ แล้วตรงไหนคือบาดแผล?

แล้วไทย คือทุนนิยมแบบไหน?

อ. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ให้นิยามของทุนนิยมไทยไว้ว่าเป็น “ทุนนิยมแบบช่วงชั้น” (Hierarchical Capitalism) ไม่ได้ใกล้เคียงกับทุนนิยมเสรีที่มีตลาดเป็นศูนย์กลางแบบอเมริกัน หรือทุนนิยมแบบร่วมมือของเยอรมนีที่แชร์ความเสี่ยงร่วมกัน 

เศรษฐกิจในไทยมีแนวโน้มเป็นแบบลำดับชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยกัน ก็มีทั้งกลุ่มที่สามารถกว้านซื้อกิจการกลุ่มอื่นได้ไม่อั้น กับกลุ่มที่ต้องดิ้นรนหาทางออกไปโตต่างประเทศ

[ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนนิยมแบบช่วงชั้นได้ในบทความ ระบอบประยุทธ์-การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น
โดย รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ และ รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร]

ถ้าจะให้วิเคราะห์เข้าไปดูโครงสร้างทุนนิยมไทย อาจแยกส่วนออกมาได้ดังนี้

  • ธุรกิจ กลุ่มธุรกิจใหญ่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำการเมือง ได้สัมปทานและการปกป้องการแข่งขันแบบไม่ต้องออกแรงหรือลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี
  • การเมือง ยอมให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากำหนดนโยบายอย่างออกหน้า 
  • แรงงาน ขาดการจัดตั้งที่เข้มแข็ง แยกส่วน ขาดอำนาจต่อรองระดับชาติ

ทุนนิยมแบบช่วงชั้นนี้ทำลาย ‘การแข่งขัน’ ที่เป็นหัวใจหลักของทุนนิยมก้าวหน้าทุกรูปแบบ 

การสนับสนุนทุนนิยม เป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนกลุ่มทุน

เพื่อให้การเติบโตของทุนนิยมเป็นประโยชน์กับสังคมและผู้คนมากที่สุด กฎกติกาเพื่อรักษาและกระตุ้นการแข่งขันจึงเป็นกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้

เพราะทุนนิยมที่ดีคือทุนนิยมที่มีการแข่งขัน

อย่าลืมว่า แม้แต่ในยุโรปที่เป็นจุดกำเนิดทุนนิยมโลกก็ไม่ได้ปล่อยให้กลุ่มทุนทำอะไรได้ตามใจชอบ มีกลไกติดตามตรวจสอบการแข่งขันในแต่ละตลาดอยู่ตลอดเวลา และมีมาตรการลงโทษหากกลุ่มทุนล้ำเส้น ครอบงำตลาดหรือกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่อย่างไม่เป็นธรรม

แต่กลไกประเมินการแข่งขันของไทยยังอ่อนแอ ธุรกิจที่ชนะจึงไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า แต่อยู่ใกล้ชิดการเมืองมากกว่า ลดทอนการแข่งขันที่ควรเป็น ราคาจึงไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนนวัตกรรมที่ควรเกิดจากผู้ค้าหน้าใหม่ก็ถูกตัดตอนไป

ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ อ. วีระยุทธบอกว่า จะเรียกทุนนิยมก็ยังพูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก เพราะไม่ได้มองการแข่งขันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดความหวาดกลัวและรังเกียจทุนนิยมขึ้นในประเทศไทย

bangkok urban

ทุนนิยมไทยฉบับย่อ ก่อนจะมาถึงจุดที่เรายืนทุกวันนี้

อย่างที่บอกไปแล้วว่าทุนนิยมไม่ได้ร่วงลงมาจากฟากฟ้า แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์จากน้ำมือมนุษย์มากกว่า แล้วทีนี้ ทุนนิยมไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างไรถึงได้มาถึงจุดที่เรายืนอยู่ทุกวันนี้ได้

อ. วีระยุทธชี้ว่า จุดที่คนส่วนใหญ่บอกว่าเป็นเหมือนยุคตั้งไข่จัดวางโครงสร้างทุนนิยมไทยต้องย้อนกลับไปที่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งถ้าเราลองอัลตราซาวด์ดู ก็จะเห็นว่าทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์มีธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่รายเป็นหัวใจขับเคลื่อน ไม่ใช่รัฐหรือตลาด

ช่วงที่ทุนนิยมไทยปรับเปลี่ยนทิศทางสำคัญอีกครั้งในสมัยพลเอกเปรม ซึ่งไทยได้รับอานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นโดนสหรัฐฯ กดดันให้ทำสนธิสัญญาพลาซ่า (Plaza Accord) ปรับค่าเงิน ย้ายฐานการผลิต ออกไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย เพื่อประโยชน์จากค่าแรงราคาถูก 

ภาคธุรกิจจึงกดดันให้รัฐไทยเปลี่ยนยุทธศาสตร์จาก อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialisation) ไปสู่ อุตสาหกรรมเพื่อส่งออก (Export-oriented Industrialisation) ตอบรับกระแสการลงทุนที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก อำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน 

การไหลบ่าเข้ามาของทุน ทำให้เศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2530 เติบโตร้อนแรงเหมือนเวียดนามที่เราเห็นในขณะนี้ คือเติบโต 8-10% อยู่หลายปี ดอกเบี้ยธนาคารเคยทะยานแตะ 10-15% มีศักยภาพเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้า แต่ปัญหาคือแทบไม่ได้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ เป็นแต่ฐานการลงทุน เน้นนโยบายมหภาค ไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีหรือการสร้างอุตสาหกรรมระดับโลก

หลายอย่างก็ยังต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เช่น สนใจแต่ตัวเลขเม็ดเงินลงทุน จีดีพีโตเท่าไหร่ ส่งออกเพิ่มไหม ถ้ามันสวยคนก็พึงพอใจกันแล้ว 

แต่ละเลยคำถามว่า กิจการต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราบ้างไหม “ตะกร้าสินค้าส่งออก” เราพัฒนาจากของง่ายๆ ไปเป็นของยากๆ มากขึ้นตามเวลาหรือเปล่า

พอเราสนใจแต่ตัวเลข แต่ไม่สนใจทิศทางกับรายละเอียด
ก็เลยกลายเป็นว่า เราอาศัยใบบุญจากเงินลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น 

เพราะในทศวรรษ 1980 ‘ธนาคาร’ เป็นหัวหอกของการลงทุนไทย มีบทบาทชี้ว่าเงินกู้จะจัดสรรไปธุรกิจไหนบ้าง แต่ธรรมชาติของตลาดทุนก็จะสนใจการทำกำไรระยะสั้นเป็นหลัก พวกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่เห็นผลตอบแทนช้า ถ้ารัฐหรือสังคมไม่อดทน ไม่มีข้อตกลงหรือความฝันในการสร้างอุตสาหกรรมร่วมกัน ก็ไม่มีทางเกิด

ในระยะต่อมา เม็ดเงินจึงไหลไปสู่การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดฟองสบู่อย่างที่เราทราบกันดี แม้แต่ตอนที่เราฟื้นกลับมาได้หลังทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา เราก็หันไปหาเงินแบบง่ายๆ จากธุรกิจบริการ ที่ได้อานิสงส์อีกรอบจากคลื่นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

bangkok tourism traveller

จีดีพีกลับมาโต ตัวเลขกลับมาสวย ก็เข้าอีหรอบเดิม ไม่มีใครตั้งคำถามเรื่องทิศทางหรือรายละเอียดของการเติบโต ว่ามันจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

การเติบโตแบบสะเปะสะปะ รอคอยอานิสงส์จากปัจจัยภายนอกทำให้ไทยเราแตกต่างจากเสือเศรษฐกิจอีก 4 ตัว ที่ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในจนแข็งแรง พัฒนาหัวจักรทางเศรษฐกิจของตนขึ้นมา

  • ญี่ปุ่น เกาหลี มีบริษัทข้ามชาติอย่าง Toyota และ Samsung
  • ไต้หวัน ขับเคลื่อนด้วย SME ที่รับช่วงผลิต ก่อนจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC
  • สิงคโปร์ พัฒนารัฐวิสาหกิจควบคู่กับการเปิดเสรีกิจการต่างชาติ

ส่วนไทยได้อานิสงส์รอบแรกจากทุนญี่ปุ่นทุนฝรั่งที่มาตั้งโรงงานก่อนปี 2540 แล้วก็ได้อานิสงส์รอบสองจากการท่องเที่ยวก่อนยุคโควิด

ท้ายที่สุด เมื่อฐานทางเศรษฐกิจไทยไม่ได้แน่นตั้งแต่แรก พอฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกก็ล้มไปหนึ่งรอบ แล้วพอคลื่นการท่องเที่ยวจบลงด้วยโรคอุบัติใหม่ เราก็ล้มอีกรอบ

ทางออกอยู่ที่ไหน? ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ปัจจุบัน สังคมมีข้อเสนอเกี่ยวกับทางออกของปัญหาทุนนิยมออกมาหลากหลาย เช่น ทั้งทางออกเชิงสังคมนิยม แต่ อ. วีระยุทธให้ทางเลือกมาว่า ในเมื่อทุนนิยมมันมีหลายเฉดเราอาจเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขทุนนิยมให้เหมาะสมได้

ต้องไม่ลืมว่าข้อดีของทุนนิยมคือ การแข่งขัน ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีออกมาต่อเนื่อง และต้องไม่ลืมว่าอีกด้านหนึ่งของเทคโนโลยี ก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังไม่มีระบบไหนที่มาแทนทุนนิยมในเรื่องแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน ไปจนถึงวัคซีนโควิด-19 ต้องอาศัยทั้งความสามารถขององค์กรและการเกื้อหนุนของตลาดทุนและนโยบายรัฐ

ภาพจาก shutterstock

ทางออกอาจจะไม่ใช่การรื้อทิ้งทุนนิยมทั้งแผง เพราะเกรงกลัวด้านเสียของทุนนิยม แต่เป็นการหาทางจำกัดหรือกำจัดด้านเสียของทุนนิยม ที่ส่วนใหญ่คือโครงสร้างรายล้อมทุนนิยมที่เป็นตัวปัญหา เช่น ความสัมพันธ์บิดเบี้ยวระหว่างรัฐ-ทุน ภาวะขาดการแข่งขันในหลายตลาด

ท้ายที่สุด ทุนนิยมเกิดจากน้ำมือมนุษย์ มันคือสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้เรื่อยๆ เช่น การพัฒนาตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำเพื่อชี้เป้าให้ผู้กำหนดนโยบาย การผนวกระบบสวัสดิการเข้ากับระบบทุนนิยม การเพิ่มสัดส่วนของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมหรือชุมชน เป็นต้น

ไม่ใช่ว่าทุนนิยมเลวร้ายแล้วจะเลวร้ายแบบนั้นตลอดไป หน้าที่ของผู้คนในฐานะพลเมืองคือการมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างแข็งขันเพื่อจำกัดการใช้อำนาจของหน่วยต่างๆ ในระบบทุนนิยม เช่น รัฐ ทุน มหาวิทยาลัย แรงงาน ที่ทำให้การทำงานของระบบทุนนิยมผิดเพี้ยนไป

เราต้อง save capitalism ไม่ใช่ capitalists

จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องเห็นการผูกขาดเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เห็นการแข่งขันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน