โรงแรมในไทยยืนหนึ่ง ดีที่สุดในโลก ‘Cappella Bangkok’ คว้ารางวัล World’s 50 Best Hotels

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทย นอกจากอาหารอร่อยๆ ที่ติดท็อประดับโลกแล้ว งานบริการหรือการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะเรื่องที่พัก ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราทำได้ดี

Cappella Bangkok

‘Capella Bangkok’ หนึ่งในโรงแรมเครือ ‘Cappella’ แบรนด์สัญชาติสิงคโปร์ คือโรงแรมระดับ 5 ดาว พ่วงด้วยตำแหน่ง ‘The Best Hotel in Asia’ ซึ่งนอกจากที่ที่นี่จะการันตีว่าทุกห้องพักจะได้เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังยกระดับความหรูหราผ่านห้องอาหารฝรั่งเศส ของเชฟชื่อดังอย่าง ‘Mauro Colagreco’ และ ‘พระนคร’ ห้องอาหารไทยแท้ติดริมน้ำ ที่ดึงดูดสายคอนเทนต์มาร่วมกันแชะภาพชิคๆ ลงโซเชียลมีเดียกัน

ล่าสุด Capella Bangkok เพิ่งจะคว้าตำแหน่งโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก จากผลสำรวจ ‘World’s 50 Best Hotels’ อีกด้วย และยังมีโรงแรมอื่นๆ ในไทยที่ติดอันดับ อาทิ ‘Mandarin Oriental Bangkok’ (อันดับ 12), ‘Four Seasons Bangkok at Chao Phraya River’ (อันดับ 14) และ ‘The Siam’ (อันดับ 26) โดยลิสต์เต็มๆ ของ 50 อันดับแรก มีดังนี้

  1. Capella Bangkok (ไทย)
  2. Passlacqua (อิตาลี)
  3. Rosewood Hong Kong (ฮ่องกง)
  4. Cheval Blanc Paris (ฝรั่งเศส)
  5. The Upper House (ฮ่องกง)
  6. Raffles Singapore (สิงคโปร์)
  7. Aman Tokyo (ญี่ปุ่น)
  8. Soneva Fushi (มัลดีฟส์)
  9. Atlantis the Royal (ดูไบ)
  10. Nihi Sumba (อินโดนีเซีย)
  11. Claridge’s (อังกฤษ)
  12. Mandarin Oriental Bangkok (ไทย)
  13. Raffles London at the OWO (อังกฤษ)
  14. Four Season Bangkok at Chao Phraya River (ไทย)
  15. Hôtel de Crillon (ฝรั่งเศส)
  16. Chablé Yucatan, Chocolá (เม็กซิโก)
  17. Hotel du Cap-Eden-Roc (ฝรั่งเศส)
  18. Belmond Maroma (เม็กซิโก)
  19. Four Seasons Firenze (อิตาลี)
  20. Borgo Santandrea (อิตาลี)
  21. Desa Potato Head (บาหลี)
  22. Bulgari Tokyo (ญี่ปุ่น)
  23. The Lana (ดูไบ)
  24. Rosewood São Paulo (บราซิล)
  25. The Calile (ออสเตรเลีย)
  26. The Siam (ไทย)
  27. Park Hyatt Kyoto (ญี่ปุ่น)
  28. Mount Nelson (แอฟริกาใต้)
  29. One & Only Mandarina (เม็กซิโก)
  30. The Carlyle (สหรัฐอเมริกา) 
  31. La Mamounia, Marrakech (โมร็อกโก)
  32. Four Seasons Madrid (สเปน)
  33. Capella Singapore (สิงคโปร์)
  34. Four Seasons at the Surf Club (สหรัฐอเมริกา)
  35. Hotel Bel-Air (สหรัฐอเมริกา)
  36. Eden Rock (ฝรั่งเศส)
  37. Aman New York (สหรัฐอเมริกา)
  38. Royal Mansour (โมร็อกโก)
  39. Amangalla (ศรีลังกา)
  40. Le Bristol (ฝรั่งเศส)
  41. Gleneagles (สก็อตแลนด์)
  42. Castello di Reschio (อิตาลี)
  43. Suján Jawai, Rajasthan (อินเดีย)
  44. Singita Kruger National Park (แอฟริกาใต้)
  45. Six Senses Zighy Bay (โอมาน)
  46. The Connaught (อังกฤษ)
  47. The Brando (ฝรั่งเศส)
  48. Hotel Esencia (เม็กซิโก)
  49. The Tasman (ออสเตรเลีย)
  50. Kokomo Private Island (ฟิจิ)

‘World’s 50 Best Hotels’ คือรางวัลอันทรงคุณค่า ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด

World's 50 Best Hotels
ภาพจากเพจ The World’s 50 Best Hotels

World’s 50 Best Hotels ถือเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ที่นอกจากจะทำให้แขกมาพักมากขึ้นแล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก คือ

  1. ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

‘Kristina Snaith-Lense’ ผู้จัดการโรงแรม ‘Upper House’ (อันดับ 5) ของฮ่องกงเผยว่า “หลังจากปิดประเทศเพราะโควิด-19 มานาน การติดอันดับนี้ ทำให้ฮ่องกงฟื้นตัวดีขึ้นมาก”

  1. ส่งเสริมภาพลักษณ์โรงแรมในเครือ 

เมื่อ Cappella Bangkok ถูกเลือกให้เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 ทั้งๆ ที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ และเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเครือยักษ์ใหญ่อื่นๆ อยู่มาก นักท่องเที่ยวจึงอยากลองไปพักสาขาอื่นๆ อย่าง บาหลี สิงคโปร์ และ ซิดนีย์บ้าง

  1. เป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นยอด

‘Vincent Billiard’ กรรมการผู้จัดการโรงแรม Hôtel de Crillon (อันดับ 15) กล่าวว่า “เราติดป้ายรางวัลไว้หน้าโรงแรม พูดถึงมันในจดหมายทุกฉบับที่เราเขียน และอินสตาแกรมของเราก็จะเต็มไปด้วยรางวัลนี้”

ตำแหน่ง ‘World’s Best’ ได้มาเพราะดีจริงๆ หรือเพราะกลุ่มตัวอย่างไม่เคยไปพักที่อื่น?

Hotel

ตำแหน่ง ‘World’s Best’ ไม่ใช่อะไรที่จะสามารถพิสูจน์ออกมาด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่จะเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลมากกว่า ซึ่งผลสำรวจ ‘World’s 50 Best Hotels’ นี้ก็ได้มาจากการที่ทีมงานของ ‘World’s 50 Best’ สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 600 คน เกี่ยวกับ 7 อันดับโรงแรมที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้เข้าพักในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา 

ด้วยระบบนี้ พวกโรงแรมในเมืองใหญ่ๆ หรือโรงแรมที่มีงบประมาณการตลาดสูง จึงได้เปรียบเป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในสถานที่ที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งผลสำรวจยังไม่มีข้อห้ามเรื่องการจ้างกลุ่มตัวอย่างไปพักฟรีๆ อีกด้วย ดังนั้น โรงแรมที่มีงบด้านนี้ จึงสามารถเชิญชวนเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ มาช่วยโปรโมตที่พัก ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจไปพักตามได้

‘Raffles London at the OWO’ (อันดับ 13) คือหนึ่งในตัวอย่างของโรงแรมที่ได้ผลประโยชน์จากการตลาดเป็นอย่างมาก ด้วยการประชาสัมพันธ์ว่าตนเองคือโรงแรมที่เคยเป็นตึกอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์สงครามโลกของอังกฤษ ผ่านการรีโนเวทเกือบ 6 หมื่นล้านบาท

อันดับเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่นจากผลสำรวจในปี 2023 มีโรงแรมในเอเชียกว่า 10 แห่ง ที่ได้ตำแหน่ง World’s 50 Best Hotels เนื่องจากเป็นปีที่การระบาดของโควิดลดลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานาน พากันมาเยี่ยมประเทศแถบเอเชีย

ส่วนในปีนี้ ด้วยค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนตัวลง และกระแสซีรีส์ ‘The White Lotus’ ซีซันใหม่ที่ถ่ายทำในประเทศไทย เอเชียจึงยังเป็นทวีปยอดฮิตอยู่เช่นเคย

แน่นอนว่า เมื่อระบบเป็นแบบนี้ เหล่าโรงแรมในประเทศนอกกระแสจึงอาจเสียเปรียบ เพราะแม้กระทั่งกลุ่มตัวอย่างที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว ก็ยังไม่ค่อยแวะเวียนไปพักในโรงแรมที่เข้าถึงยาก หรือไม่มีชื่อเสียงเลย และต่อให้กลุ่มตัวอย่างจะมาจากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก มันก็ไม่ได้มีกฎบังคับว่าพวกเขาจะต้องให้คะแนนโรงแรมในประเทศตนเองสักนิด ส่งผลให้โรงแรมในสถานที่ไม่ยอดฮิตแทบไม่ถูกเหลียวแล 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างก็ยังคงไปพักแต่โรงแรมอันดับต้นๆ ที่ตนไม่เคยไป จนเกิดเป็น ‘Echo Chamber’ ที่แห่กันมองว่าโรงแรมพวกนี้ดีจริงๆ แล้วพลาดโอกาสไปเยือนที่พักอื่น มันเลยไม่แปลกที่ผลสำรวจในทุกๆ ปีจะมีผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงเดิม และการที่โรงแรมอย่าง ‘Kokomo Private Island’ (ฟิจิ), ‘Suján Jawai’ (อินเดีย) หรือ ‘Six Senses Zighy Bay’ (โอมาน) ติดท็อป 50 นั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากๆ

เมื่อมีคนไปถาม ‘Emma Sleight’ หัวหน้าทีมคอนเทนต์ประจำ World’s 50 Best Bars and Hotels เกี่ยวกับมุมมองที่เธอมีต่อความยุติธรรมและความหลากหลายของผลลัพธ์ Emma ได้ให้ความเห็นว่า “เราจัดอันดับไว้แค่ 50 ตำแหน่งเท่านั้น และพวกเราก็ไม่ใช่คนตัดสินว่าใครคือโรงแรมที่ดีที่สุด แต่เป็นเพียงภาพสะท้อนของการท่องเที่ยวในปัจจุบันมากกว่า”

จากความขลังและระบบของ World’s 50 Best Hotels ในตอนนี้ นักการโรงแรมหลายๆ คน โดยเฉพาะ โรงแรมใหญ่ๆ ที่เป็นแบรนด์นอก ถึงกับต้องเครียดว่าจะสามารถรักษาตำแหน่ง หรือมีโอกาสติดท็อป 50 ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด พร้อมคู่แข่งที่ดังกว่าและมีงบประมาณมากกว่า ได้หรือไม่ 

ส่วนผลลัพธ์ในปี 2025 จะต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน แล้วไทยจะยังคงยืน 1 ต่อไปได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

แหล่งที่มา: Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา