แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ชี้ภาพรวมตลาดกล้องถ่ายภาพ และวิดีโอในประเทศไทยมีโอกาสเติบโต 15% มีมูลค่าตลาดแตะ 3,000 ล้านบาท หรือจำนวน 90,000 กล้อง เหตุกล้องประสิทธิภาพสูงราคาหลักแสนบาทขายดีต่อเนื่อง ส่งผลยอดขายบริษัทเติบโต 10% จากปี 2023
แคนนอน ประเทศไทย มองตลาดกล้องยังโตดี
ฮิโรชิ โยโกตะ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในมุมอาชีพที่ต้องใช้กล้องถ่ายภาพ และวิดีโอ เพราะมีงานอีเวนต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น งานเกี่ยวกับกีฬา และการท่องเที่ยว
เมื่อความต้องการกล้องถ่ายภาพมีมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดกล้องถ่ายภาพ และวิดีโอในประเทศไทยปี 2024 จะมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2023 ผ่านจำนวนกล้องที่จำหน่ายราว 90,000 กล้อง แบ่งเป็น กล้อง Mirrorless 60%, กล้อง Digital Compact 35% และกล้อง DSLR 5%
เนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์อิมเมจจิ้งอินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เสริมว่า จากตัวเลขคาดการณ์การเติบโตข้างต้นแสดงให้เห็นถึงสินค้ากล้องถ่ายภาพ และวิดีโอไม่ได้ถูกกระทบจากภาพรวมกำลังซื้อผู้บริโภคที่อาจมีปัญหาในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
กล้องระดับมืออาชีพช่วยขับเคลื่อนตลาด
การเติบโตของตลาดกล้องถ่ายภาพ และวิดีโอมาจากการเปลี่ยนกล้องเป็นรุ่นที่สูงขึ้นของกลุ่มมืออาชีพเป็นหลัก เพราะกล้องระดับ Full Frame ทั้ง DSLR และ Mirrorless ยังมีความต้องการสูงต่อเนื่อง เช่น กล้อง Mirrorless Full Frame รุ่น EOS R1 และ EOS R5 Mark II มียอดจองเข้ามาก่อนเปิดตัวที่มากกว่า 100 กล้อง และ 200 กล้อง ตามลำดับ
สำหรับกล้อง EOS R1 ถูกวางเป็นรุ่นเรือธง ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับมืออาชีพที่เน้นเรื่องความเร็วในการทำงานเป็นหลัก ทั้งการถ่ายการแข่งขันกีฬา ชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงงานข่าว ราคาเฉพาะตัวกล้องที่ 235,900 บาท ส่วน EOS R5 Mark II เป็นรุ่นรองลงมา เน้นการใช้งานทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ราคาเริ่มต้นเฉพาะตัวกล้อง 147,900 บาท
ในปี 2023 ทางแคนนอนมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยของกล้อง Full Frame แบบ Mirrorless ที่ 35% ซึ่งจากการเปิดตัวกล้องทั้งสองรุ่นจะสร้างโอกาสให้แคนนอนเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเป็น 40% ถือเป็นการกลับมาทวงคืนตำแหน่งผู้นำตลาดกล้องถ่ายภาพ และวิดีโออย่างน่าสนใจ
บาลานซ์ทุกช่องทางการขายกับพาร์ตเนอร์
จากข่าว Sony ประเทศไทย ยุติการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แคนนอนขอย้ำว่า บริษัทไม่มีการจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้านของตัวเองบนช่องทางออนไลน์ เพราะต้องการเติบโตไปกับดีลเลอร์ที่เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญของบริษัท ซึ่งดีลเลอร์เหล่านั้นจะจำหน่ายทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ผ่านหน้าร้านตัวเองได้ และมีบริษัทคอยกำกับอยู่ห่าง ๆ
“เข้าใจว่าบางครั้งราคาบนออนไลน์ก็ถูกกว่าหน้าร้าน และอาจสร้างปัญหาให้ลูกค้าไม่เข้าร้านดีลเลอร์ของเรา แต่ก็ต้องรู้ก่อนว่า บางทีร้านเขาไม่ได้ลดราคาเอง เป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยมากกว่า แต่เราก็ต้องวางตัวเป็นคนกลางเพื่อช่วยเคลียร์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการลดราคาต่าง ๆ ด้วย และจะไม่ทำช่องทางของตัวเองแน่นอน”
เนตรนรินทร์ แจ้งว่า ผู้ใช้กล้องมีความจงรักภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งค่อนข้างสูง และหากเปลี่ยนใจผู้ใช้เหล่านั้นจากแบรนด์อื่นได้ย่อมสร้างโอกาสรายได้เพิ่มได้เช่นกัน แม้เรื่องราคาเลนส์ หรืออุปกรณ์เสริมของแคนนอนจะราคาสูงกว่า ในฐานะมืออาชีพที่ต้องการคุณภาพสูง พวกเขาย่อมยอมที่จะจ่าย
เมื่อส่วนแบ่งเพิ่ม ต้องมีบางรายที่หายไป
สำหรับภาพรวมธุรกิจของ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ในปี 2024 มีโอกาสรายได้เติบโตจากปี 2023 ที่ 10% ผ่านการมีสองธุรกิจหลักคือ กล้อง และเครื่องพิมพ์เป็นฟันเฟืองหลัก ควบคู่กับธุรกิจอื่น ๆ เช่น บริการโซลูชันครบวงจรให้กับองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แคนนอน รองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทยเป็นปีที่ 17 ติดต่อกันในกลุ่มผลิตภัณฑ์ กล้อ DSLR โดยปี 2023 มีส่วนแบ่งตลาดที่ 51% และหากอ้างอิงตัวเลขกล้อง Full Frame แบบ Mirrorless ที่เป้าปีนี้เพิ่มขึ้นของแคนนอน ย่อมมีผู้เล่นบางรายสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนี้ไปอย่างแน่นอน
ปัจจุบันในประเทศไทยมีแบรนด์ที่จำหน่ายกล้อง Full Frame แบบ Mirrorless ทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย Canon, Nikon, Sony และ Panasonic ส่วนตลาดกล้อง Digital Comapact ที่เติบโตมาจากกระแส Vlog รวมถึงกลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์ที่ต้องการถ่ายภาพคุณภาพสูง แต่พกพาไปถ่ายได้สะดวก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา