กัญชาไทยโฆษณาได้! คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณายาเสพติดฯ

เมื่อกฎหมายทั่วโลกเปิดทางให้กัญชามากขึ้น แม้ว่าคนไทยยังมีภาพติดตาว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่ตอนนี้กฎหมายไทยเปิดช่องใช้กัญชาในทางการแพทย์แล้ว

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้กัญชาสามารถโฆษณาได้ แต่มีเงื่อนไขอย่างไร ?

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ หลังจากนี้ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป 

ทั้งนี้จะแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยจะใช้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และมาตรา 48 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้มีการโฆษณายาเสพติดให้โทษเว้นแต่การโฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เฉพาะกัญชา) ซึ่งกระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม, ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม, ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง, ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย, ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์

หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย, หรือเป็นฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ หรือเป็นเอกสารภาพ ภาพยนตร์ การบันทึกเสียงหรือภาพ โดยให้การขออนุญาตและการอนุญาตให้โฆษณาดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

โดยสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้มี 6 ข้อ ได้แก่

  1. ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่ต้องการขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์ฯ ซึ่งได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
  2. การพิจารณาอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ได้เฉพาะในกรณีเพื่อการโฆษณาที่กระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือเป็นฉลาก หรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษนั้น
  3. กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและให้ผู้รับอนุญาตยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่กำหนด
  4. กรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา หรือเอกสารทางวิชาการที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้แตกต่างจากการโฆษณาที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว ให้การอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง
  5. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องโฆษณาตามที่ได้รับอนุญาตและระบุเลขที่ใบอนุญาตไว้ในสื่อโฆษณาทุกครั้ง
  6. กำหนดให้คำขออนุญาต ใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา