ByteDance บริษัทแม่ TikTok มูลค่าโตต่อเนื่อง แม้ต้องยอมขายหุ้น 1% ให้ทางการจีน

การประเมินมูลค่าบริษัท ByteDance ยังคงสูงขึ้นอีก แม้บริษัทเทคโนโลยีจีนหลายรายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มูลค่าร่วงระนาวหลังรัฐบาลจีนไล่ทุบ

Bytedance เติบโตต่อเนื่อง

ศุนย์วิจัย Hurun จากเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศรายชื่อบริษัทภาคเอกชนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก 500 อันดับแรกใน Hurun Global 500 โดยระบุว่าโดยรวมแล้ว ภาคเอกชนมีมูลค่าสูงขึ้น 17% ตั้งแต่ปลายปี 2020

โดย ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok และ Douyin เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก อ้างอิงจาก Hurun Global 500 โดยมีมูลค่าประเมินสูงขึ้น 168% อยู่ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท) ตามหลังเพียง Blackstone Group เติบโตที่ 191% แต่ด้วยมูลค่าเพียง 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.9 ล้านล้านบาท)

ในขณะที่ ByteDance ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจีนอื่นๆ ที่ IPO แล้วอีก 3 บริษัทก็อยู่ใน Top 10 บริษัทที่เติบโตมากที่สุดเช่นเดียวกัน เช่น

  • CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เติบโต 135%
  • Longi Green Energy บริษัทผลิตอุปกรณ์แผงโซล่าเซลล์ เติบโต 95%
  • WuXi AppTec และ WuXi Biologics เครือบริษัทผู้ผลิตยาเติบโต 84-87%

ByteDance ถูกประเมินมูลค่าไว้ที่ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 ล้านล้านบาท) เมื่อปลายปี 2020 และระดมทุนไปกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.66 แสนล้านบาท) โดยมีข่าวลือว่ากำลังเตรียมจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง แต่มีตัวแทนจากบริษัทออกมาปฎิเสธภายหลัง

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนเข้าถือหุ้นของ ByteDance ไว้ 1% แล้วตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งดีลครั้งนี้จะทำให้ทางการจีนบรรจุเลือกหนึ่งในบอร์ดบริหารของ ByteDance ได้อีกด้วย

บริษัทรายอื่นๆ ที่ทำได้ไม่ดีเท่า

ด้าน Huawei Technologies ยังคงมีมูลค่าประเมินคงเดิมที่ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าประครองตัวเองไว้ได้ดี แม้จะสูญเสียรายได้จากสมาร์ทโฟนไปค่อนข้างมาก หลังจากโดนขัดขวางการเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐ

ทว่า ผู้ที่เสียหายมากที่สุดก็คือ Alibaba Group Holding ซึ่งมูลค่าของบริษัทหายไปถึง 1.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท) หลังจากโดนรัฐบาลไล่โจมตีเรื่องการผูกขาดตลาดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ใน Top 10 บริษัทที่สูญเสียมูลค่ามากที่สุดยังมีบริษัทเทคจีนอีกหลายราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการควบคุมของรับบาลจีนกันถ้วนหน้า เช่น

  • KE Holdings แพลตฟอร์มซื้อ-ขายอสังหาฯ ในจีน มูลค่าลด 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Pinduoduo มูลค่าลด 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Tencent มูลค่าลด 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือ Kuaishou แอพวิดิโอสั้น คู่แข่งของ TikTok ที่มาแรง ซึ่งระดมทุนไปกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อต้นปี 2021 แต่มูลค่าหุ้นก็ตกไปกว่า 77.3% แล้ว ณ ปัจจุบัน หลังจากตลาดเทคโนโลยีถูกทางการจีนเข้าแทรกแซง ทั้งๆ ที่ตัวบริษัทไม่ได้โดนตรวจสอบ

สรุป

ผลกระทบของการแทรกแซงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในจีนจากรัฐบาลเห็นได้อย่างชัดเจนจากมูลค่าบริษัทที่สูญหายไปในปี 2021 ที่ผ่านมา น่าจับตามองว่าทางการจีนจะเข้ากำกับในระดับที่ลึกขึ้นหรือไม่ หรือจะปรับปรุงกฎหมายอย่างเดียว

ที่มา – Asia Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา