ByteDance ขึ้นเบอร์ 2 อีคอมเมิร์ซอาเซียน แซง Lazada จี้ Shopee ด้วย TikTok Shop และ Tokopedia

ByteDance เจ้าของ TikTok ขึ้นแท่นอีคอมเมิร์ซอันดับที่ 2 ของอาเซียนในแง่มูลค่าสินค้ารวม หรือ GMV เมื่อรวม TikTok Shop ที่มี GMV เพิ่ม 4 เท่า เป็น 16,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.90 แสนล้านบาท กับ Tokopedia อีคอมเมิร์ซชั้นนำที่อินโดนีเซียที่บริษัทไปถือหุ้นใหญ่ ตัวเลขนี้ทำ Lazada หล่นไปที่ 3 และ Shopee ถูกไล่จี้ต่อเนื่อง

TikTok Shop
TikTok Shop // ภาพจาก TikTok

TikTok Shop มียอด GMV เติบโต 4 เท่า

Nikkei Asia รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works ว่า ในปี 2023 ByteDance ก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซภูมิภาคอาเซียนในแง่มูลค่าสินค้ารวม หรือ Gross Merchandise Volume: GMV เป็นอันดับที่ 2 โดยเป็นรองแค่ Shopee ที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 และแซงหน้า Lazazda ขึ้นไป

ByteDance ก้าวขึ้นมาในตลาดนี้ด้วยบริการอีคอมเมิร์ซของ TikTok ชื่อว่า TikTok Shop ที่สิ้นปี 2023 มีมูลค่า GMV เพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 เป็น 16,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ถือเป็นการเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคนี้

เมื่อรวมมูลค่า GMV กับ Tokopedia ที่ปัจจุบัน ByteDance เข้าถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 75% และเป็นอันดับ 2 ในตลาดอีคอมเมิร์ซที่อินโดนีเซีย จะทำให้ ByteDance ก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซภูมิภาคอาเซียนเป็นอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 28.4%

อีคอมเมิร์ซอาเซียนมูลค่า 1.14 แสนล้านเหรียญ

สำหรับมูลค่า GMV ของอีคอมเมิร์ซในอาเซียนอยู่ที่ 1.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 4.12 ล้านล้านบาท มีการเติบโต 15% จากปี 2022 มี Shopee ครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 48% รองลงมาคือ Lazada 16.4% และ TikTok กับ Tokopedia กินส่วนแบ่งเท่า ๆ กันราว 14.2%

Jianggan Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Momentum Works มองว่า TikTok จะกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียน หลังบริษัทมีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ไปก่อนหน้านี้ ยิ่งในปี 2024 การร่วมมือกับ Tokopedia จะทำให้ TikTok ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในอินโดนีเซียเช่นกัน

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริการอีคอมเมิร์ซตั้งแต่ปี 2021 TikTok ได้จัดจ้างพนักงานจำนวนมากในอาเซียน เพราะเวลานั้นมีการปลดพนักงานจำนวนมากของอีคอมเมิร์ซคู่แข่งเพื่อพยายามมีกำไรในการดำเนินธุรกิจให้ได้ และในปี 2023 TikTok มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากช่วงแรก เป็น 8,000 คน ใกล้เคียงกับ Lazada ในตอนนี้

Shopee

ส่วนสำคัญในการทำให้ TikTok Shop เติบโตคือการให้บริการไลฟ์ขายของ เพราะทั้งอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงพ่อค้าต่าง ๆ สามารถไลฟ์ขายสินค้าได้ทุกประเภท หรือตั้งแต่สินค้าแฟชั่น และความสวยความงาม จนไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และให้ผู้รับชมสามารถตัดสินใจซื้อระหว่างนั้นได้ทันที

ในทางกลับกัน Shopee ที่อยู่ระหว่างควบคุมต้นทุนเพื่อมีกำไรในการทำธุรกิจ กำลังพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดนี้เอาไว้ เช่น ในเดือน ส.ค. 2023 Sea บริษัทแม่ของ Shopee แจ้งอย่างเป็นทางการว่า บริษัทจะปรับแผนการลงทุนในบริการไลฟ์ขายของ และการขนส่งพัสดุ

ใช้เงินแก้ปัญหาจนแข็งแกร่งในตลาดนี้

ถึง TikTok จะเติบโตในอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว แต่พบเจอปัญหาอยู่บ้าง เช่น ในอินโดนีเซีย TikTok Shop ถูกยุติให้บริการชั่วคราว หลังหน่วยงานภาครัฐสั่งห้ามไม่ให้ทำการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน TikTok เข้าไปลงทุนกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ พร้อมถือหุ้น 75% ใน Tokopedia ทันที

การทำแบบนั้นทำให้ TikTok กลับมาให้บริการอีคอมเมิร์ซได้อีกครั้งในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ TikTok และ Tokopedia มีส่วนแบ่งรวมกันในตลาดอีคอมเมิร์ซ 39% ที่อินโดนีเซีย ตามหลัง Shopee ที่ครองส่วนแบ่ง 40% ส่วนในเวียดนาม TikTok Shop มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 24%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา