เปิดเคล็ดลับการหาหุ้นส่วน ชวนมาทำธุรกิจ กรณีศึกษาจาก Alibaba และ Google

ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องหา “หุ้นส่วน” มาช่วยสนับสนุน ทั้งด้านการเงินและด้านความคิด

Brand Inside ขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้เคล็ดลับและข้อควรระวังในการหาหุ้นส่วน รวมไปถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากผู้ก่อตั้ง Alibaba และ Google

คัมภีร์หาหุ้นส่วนทำธุรกิจ : กรณีศึกษา Alibaba และ Google
คัมภีร์หาหุ้นส่วนทำธุรกิจ : กรณีศึกษา Alibaba และ Google

6 วิธีน่าสนใจสำหรับใช้เลือกหุ้นส่วนหรือ Co-founder

1. เขียนคำอธิบายลักษณะของหุ้นส่วนที่ต้องการออกมา

ก่อนอื่นหลายๆ คนอาจจะเริ่มต้นธุรกิจโดยเลือกหุ้นส่วนเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อน เพราะความสนิทสนมหรือความคุ้นเคยที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานาน แต่อย่าลืมว่าแม้จะรู้จักกันดีแต่ทักษะอื่นๆ ของพวกเขาอาจจะไม่ได้เหมาะกับการมาทำธุรกิจร่วมกับเราก็ได้ ดังนั้น เราต้องลองวิเคราะห์ว่า ตัวเองมีจุดอ่อนและจุดแข็งด้านการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ให้เราลองลิสต์ออกมาว่า อยากได้คนที่มีลักษณะหรือประสบการณ์แบบไหนมาเสริมจุดอ่อนและพัฒนาจุดแข็งให้ธุรกิจเรา 

2. คำถามน่าสนใจสำหรับคัดเลือกคนที่อยากมาเป็นหุ้นส่วน

หลังจากที่เราได้ลองไปนำเสนอไอเดียธุรกิจให้หลายๆ คนฟังก็น่าจะมีผู้ที่สนใจไอเดียธุรกิจของเราอยู่บ้าง แต่คำถามคือถึงแม้ว่าคนที่สนใจมาเป็นหุ้นส่วนกับเราจะมีความสามารถแค่ไหน หรือเขาจะชื่นชอบไอเดียของเราเพียงใด แต่ก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าเขาเหมาะที่จะมาร่วมงานกับเรา ดังนั้น Brand Inside จึงขอนำเสนอ 3 มุมมองที่น่าสนใจในการคัดเลือกคนมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

  • เขาชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะล้มเหลวหรือเปล่า 

ให้เราลองถามถึงผลงานที่ผ่านมาของเขา ทั้งผลงานที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จและผลงานที่ล้มเหลว เพราะสิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าเขามีลักษณะพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการหรือเปล่า ที่สำคัญเรายังสามารถถามต่อยอดถึงมุมมองต่อความล้มเหลวของเขาได้อีกด้วย

  • เขาได้รับการชื่นชมจากคนอาชีพเดียวกันไหม

ให้เราลองถามว่า เขามีคอนเนคชั่นกับคนที่ทำงานในในสายอาชีพเดียวกันหรือเปล่า และอาจจะให้เขาเล่าต่อว่า ตัวเองคิดว่าเพื่อนร่วมงานน่าจะมีมุมมองต่อเขาอย่างไร

  • ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญสาขานั้นๆ มาสัมภาษณ์เขาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากได้หุ้นส่วนตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ แต่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก เราก็อาจจะชวนคนรู้จักที่เก่งเรื่องนี้มาช่วยสัมภาษณ์ด้วย เพราะคนที่ถนัดเรื่องนี้จะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ถูกสัมภาษณ์เก่งในงานนั้นจริงหรือไม่

Large group of unrecognizable business people waiting for a job interview. Focus is on man with blue clipboard.

3. ลองทำงานร่วมกันก่อนตกลงเป็นหุ้นส่วน

การได้ลองทำงานร่วมกันก่อนเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย เพราะในอนาคตเราและหุ้นส่วนต้องใช้เวลาร่วมกันเป็นจำนวนมาก และต้องก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน นอกจากนั้น ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนที่สามารถมองเห็นข้อเสียในการทำงานของเราก็ยิ่งดี เพราะเราจะได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งหลังจากได้ลองทำงานร่วมกันในระยะหนึ่งแล้ว เราก็อาจจะลองใช้สัญชาตญานตัดสินว่า อยู่กับคนนี้แล้วเราสบายใจไหม เราเชื่อใจเขาไหม และเราอยากทำงานร่วมกับเขาไปนานๆ ไหม เพราะหลายๆ ครั้งคนเราก็ตัดสินใจถูกจากการเชื่อสัญชาตญานของตัวเอง

4. ทำความเข้าใจเรื่องสไตล์การบริหารงานที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารบางคนอาจจะมีวินัยและใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบ ในขณะที่ผู้บริหารอีกคนหนึ่งอาจจะเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ถ้าจะแบ่งหน้าที่การบริหารให้ลงตัว คนแรกอาจจะคอยดูเรื่องกฎหมายหรือบัญชีเป็นหลัก ส่วนคนที่สองอาจจะช่วยดูเรื่องทุกข์สุขของพนักงาน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสองคนที่มีสไตล์การทำงานต่างกันอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งได้เป็นเรื่องปกติ เช่น ผู้บริหารคนแรกที่เป็นคนเคร่งเครียดอาจจะรู้สึกไม่พอใจที่ภาระงานส่วนใหญ่ตกมาอยู่ที่ตัวเอง ส่วนผู้บริหารคนที่สองก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจที่ตัวเองถูกควบคุมจนเกินไป เป็นต้น

5. คุยกันให้มั่นใจว่าแต่ละฝ่ายมีความมุ่งมั่นระดับเดียวกัน

เราไม่จำเป็นต้องบังคับกันว่าให้ทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือต้องอยู่ที่ออฟฟิศกันถึงตีหนึ่งตีสอง แต่สิ่งที่เราควรคุยกันให้เรียบร้อยคือแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่อยากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจนี้เท่ากันหรือเปล่า แต่ละคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกันไหม วิสัยทัศน์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร และแต่ละคนมีข้อจำกัดอะไรบ้างในการทำงาน เพื่อที่เราจะได้รับคนที่มีความตั้งใจและมองเห็นภาพอนาคตเช่นเดียวกับเรามาร่วมงานด้วยกัน

6. สถานที่หาหุ้นส่วนธุรกิจที่เราอาจจะคิดไม่ถึง

“มหาวิทยาลัย” เป็นแหล่งหาหุ้นส่วนทางธุรกิจชั้นดี เพราะอาจารย์มหาลัยก็มักจะรู้จักศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน และเหล่านักเรียนที่เป็นนักกิจกรรมตัวยงก็มักจะมีคอนเนคชั่นกับคนที่หลากหลาย ดังนั้น คนกลุ่มนี้สามารถเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างเจ้าของธุรกิจที่อยากหาหุ้นส่วนกับศิษย์เก่าหรือนักศึกษาที่มีแพชชั่นสำหรับงานที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปได้

New business meeting with a group of entrepreneurs on a conference table in a modern office loft

4 ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนหรือ Co-founder

1. ตกลงกันให้ดีก่อนว่าใครจะเป็นซีอีโอ

หากไม่ตกลงเรื่องนี้ตั้งแต่แรกหุ้นส่วนก็อาจจะทะเลาะกันได้ในระหว่างการทำงาน ดังนั้น เราควรกล้าพูดคุยเรื่องนี้และถามความต้องการของหุ้นส่วนตรงๆ เพราะซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงที่สุดก็มีได้เพียงคนเดียว 

2. บางครั้งคนเก่งที่มีอีโก้ก็อาจจะไม่น่าร่วมงานด้วย

ตอนจะรับใครมาเป็นหุ้นส่วนก็ขอให้เรามั่นใจก่อนว่าคนๆ นั้นเก่ง แต่ไม่ได้หลงระเริงในความสามารถของตัวเองจนเกินไป เพราะบางครั้งคนที่มีอีโก้สูงมากก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา ทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ลงจนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหากต้องร่วมงานกันเป็นระยะเวลานาน 

3. ไม่ควรเลือกหุ้นส่วนที่มีภาระทางการเงินมาก

ถ้าเราเลือกหุ้นส่วนที่มีภาระทางการเงินหรือกำลังมีปัญหาในชีวิตจำนวนมาก เขาก็อาจจะมีความเครียด ความกดดันเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทกับธุรกิจของเราได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่เราต้องทุ่มเทพลังกายและพลังใจเป็นอย่างมาก 

4. ลองวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าหุ้นส่วนลาออกจะทำอย่างไร

เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนอาจจะวาดฝันว่าหุ้นส่วนที่ได้มาในครั้งแรกจะเป็นคนที่อยู่ร่วมงานกันจนธุรกิจเติบโต แต่เราต้องยอมรับว่าในระหว่างการทำงานจริงความขัดแย้งด้านการงานการเงินหรือด้านความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำให้แต่ละฝ่ายอาจจะเลิกทำธุรกิจร่วมกันในที่สุด ดังนั้น เราควรคุยกันตั้งแต่ช่วงตกลงร่วมเป็นหุ้นส่วนกันว่า หากเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาเราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

เมื่อทราบวิธีหาหุ้นส่วนหรือ Co-founder แล้ว Brand Inside ขอชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเรื่องราวการหาหุ้นส่วนของผู้ก่อตั้งบริษัทระดับโลกอย่าง Alibaba และ Google 

แจ็ค หม่า หาเพื่อนร่วมทีม 17 คนแรกได้อย่างไร

ในปี 1995 แจ็ค หม่า ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พบกับเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากให้สองสิ่งนี้เข้ามาแพร่หลายในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมาประเทศจีนเขาจึงชวนคนรู้จักทั้ง 17 คนมาร่วมลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เขาอยากทำให้เติบโตในอนาคต ซึ่งธุรกิจที่ว่านั้นก็คือ Alibaba หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันนั่นเอง 

ในบรรดาคนกลุ่มนี้ มีทั้งคนที่เป็นนักเรียนเก่าของแจ็คหม่า เพื่อนร่วมงานในที่ทำงานก่อนๆ เพื่อนที่มีคนรู้จักร่วมกัน รวมทั้งคนอื่นๆ ที่เชื่อมั่นในไอเดียของเขา

นอกจากนั้น แต่ละคนก็ล้วนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ทั้งคนที่เป็นนักสื่อสารมวลชน นักพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ผู้ที่ทำงานด้านการเงินการธนาคาร และสาขาอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นของ Alibaba เพราะบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ มักจะเริ่มต้นจากการมีสมาชิกในทีมเพียง 3-4 คนเท่านั้น

ในหมู่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดประกอบไปด้วยผู้หญิงจำนวน 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Lucy Peng ซึ่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของ Lazada ในปี 2018 ส่วนผู้หญิงคนอื่นๆ ก็ล้วนได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงที่บริษัทต่างๆ ในเครือของ Alibaba 

เรื่องราวของ Larry Page และ Sergey Brin สองผู้ร่วมก่อตั้ง Google

Larry Page และ Sergey Brin ได้พบกันครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เพราะทั้งสองคนเรียนด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อยู่เช่นเดียวกัน

แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงแรกทั้งสองคนรู้สึกไม่ถูกชะตากัน และตอนทำงานพวกเขาก็มักจะทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ไม่ยอมให้สิ่งนี้มาเป็นอุปสรรคในการสร้างสิ่งดีๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับโลก

ในตอนแรกพวกเขาทั้งสองคนไม่ได้ตั้งใจจะเปิดบริษัท แต่ด้วยความที่โปรเจคจบที่มหาวิทยาลัยของทั้งสองได้รับผลตอบรับดีมาก พวกเขาเลยคิดถึงก้าวต่อไปที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คนในสังคมได้มากขึ้น จึงนำไปสู่การเปิดบริษัท Google ในที่สุด

พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ Google พัฒนาไปเป็น search engine อันดับหนึ่งของโลกที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทั้งในเวลาที่จะเลือกซื้อของ เวลาเลือกร้านอาหารหลังเลิกงาน และเวลาเลือกสถานที่ไปเที่ยว เป็นต้น

ทั้งสองจึงตั้งใจพัฒนาระบบหลังบ้านต่างๆ โดยไม่ได้หวังเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง เพราะ Larry Page ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมถูกผลักดันด้วยเงิน ผมคงขายบริษัททิ้งและไปพักผ่อนริมทะเลแล้ว”

สรุป

การหาหุ้นส่วนเป็นขั้นตอนสำคัญมากในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เราควรใช้เวลาทำความรู้จักคนที่เราอยากชวนมาเป็นหุ้นส่วน เพื่อจะได้คัดเลือกคนที่เหมาะสมมาร่วมงานด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าเราพลาดเลือกคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามา ธุรกิจของเราก็จะเติบโตได้ช้า รวมถึงตัวเจ้าของธุรกิจเองก็อาจจะต้องมาเสียสุขภาพจิตกับหุ้นส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพก็เป็นได้ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา