#กรุงเทพชีวิตดีดีที่ลงตัว เรื่องฝุ่นยังไม่หาย รถเมล์ไทยเตรียมปรับราคาขึ้น 2 บาท เริ่มจันทร์หน้า

ฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังไม่ทันจางหาย รถเมล์ไทยถึงคราวขึ้นราคาค่าโดยสารทั้งรถเมล์พัดลมและแอร์ในวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. แถมเตรียมแผนขึ้นราคาล็อต 2 ภายในปีนี้อีก

ปี 2562 รถเมล์ไทยจะขึ้นราคา 2 รอบ ประเดิม 21 ม.ค.นี้

พีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เองค์การขนส่งมวลชุกรุงเทพ (ขสมก.) รายงานว่าวันที่ 21 ม.ค. 2562 จะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ขสมก. และรถโดยสารร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เช่น รถเมล์พัดลมจะเพิ่มขึ้นจาก 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท/เที่ยว รถเมล์แอร์จากเดิม 11-23 บาทเป็น 12-24 บาท/เที่ยว ส่วนรถร่วมบขส.จะปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%

ณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชุกรุงเทพ (ขสมก.) บอกว่า การปรับราคาค่าโดยสารรถธรรมดา (รถเมล์พัดลมสีครีม-แดง) จะปรับขึ้น 2 รอบ วันที่ 21 ม.ค. จะปรับขึ้น 1.50 บาทจากค่ารถปัจจุบันอยู่ที่ 6.50 บาท ขึ้นเป็น 8 บาท ส่วนรอบ 2 จะปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง 2562 แต่ไม่เกิน 10 บาทที่บอร์ดอนุมัติ

ราคารถเมล์ปรับขึ้นกระทบคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างไรบ้าง?

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า ครั้งนี้ค่ารถเมล์ปรับขึ้นตามต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น เข่น ค่าแรง ค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนรถคันใหม่ ฯลฯ เท่าที่ประเมินเบื้องต้นมองว่าค่ารถเมล์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่กระทบกับผู้โดยสารมากนัก ขณะเดียวกันการปรับราคาขึ้นจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการคุณภาพรถเมล์ที่ดีขึ้นด้วย

“การปรับค่ารถเมล์ขึ้น คือ รัฐส่งสัญญาณให้เอกชนต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการรถเมล์ให้ดีขึ้นด้วย เพราะนอกจากปรับค่ารถเมล์ กรมขนส่งทางบก ยังทำอยู่หลายอย่าง เช่น การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ปรับปรุงการบริการ ทำให้รถเมล์เจ้าใหม่ขออนุญาตเดินรถง่ายขึ้น ฯลฯ การขึ้นราคาจะกระตุ้นการแข่งขันธุรกิจรถเมล์ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรถเมล์ต้องพัฒนาบริการให้ดีขึ้น”

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่ารถเมล์ปรับเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และค่าอื่นๆ (ไม่รวมค่าน้ำมัน) ในขณะที่ต้นทุนรถเมล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่น ค่าแรงและค่าซ่อมบำรุง แต่การเพิ่มค่ารถเมล์ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะได้รถคันใหม่ หรือบริการที่ดีขึ้นเสมอไป 

จริงๆ แล้วประเทศไทย สามารถปรับบริการตัวรถเมล์ให้ดีขึ้นได้ภายใน 3-5 ปี เช่น เปลี่ยนรถใหม่ ทำให้คนขับดีขึ้น ฯลฯ แต่ส่วนที่ยากคือการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้คนใช้บริการรถเมล์ได้สะดวก อย่าง การออกแบบป้ายรถเมล์ต้องได้มาตรฐาน เช่น ป้ายต้องยาว 100 เมตรเพื่อให้รถเมล์อย่างน้อย 3 คันจอดรับส่งผู้โดยสารได้และไม่กลายเป็นปัญหาจราจร หรือการปรับปรุงถนน ซอยต่างๆ ให้คนเดินมาใช้รถเมล์ได้สะดวก ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ยากมาก”

สรุป

ปัญหาของรถเมล์ไทยคือ รถไม่สะอาด บริการไม่ดี บางทีรถก็ไม่มา หรือขับผ่านมาแล้วก็ผ่านไป… ซึ่งการขึ้นค่าโดยสารอาจจะช่วยลดต้นทุนของรถเมล์ได้แน่ แต่รถเมล์ก็ต้องปรับปรุงตัวครั้งใหญ่ไปด้วย เพราะถ้ารถเมล์ไทยดีจริงๆ ใครจะไม่ใช้บริการ

ที่มา ข่าวสด, ประชาชาติธุรกิจ, Posttoday,

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง