หนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนวัยทำงานยุคนี้คือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ “Burnout syndrome” ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับปัญหาที่ใกล้เคียงกันจนมีคำพูดติดปากที่ว่า เครียด เหงา เศร้า และหมดไฟ
คำถามสำคัญคือแล้วเราจะแก้ปัญหาแห่งยุคสมัยเหล่านี้อย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ชัดตรงกันว่า ปัญหาหมดไฟจากการทำงาน เพราะในท้ายที่สุดแล้วจะลุกลามทำให้กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้นั่นเอง
ล่าสุด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลวิจัยด้านการตลาดในหัวข้อเรื่อง “BURNOUT IN THE CITY” โดยศึกษาจากผลสำรวจของคนวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,280 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 34% และผู้หญิง 66% โดยทำการศึกษาคนที่อยู่ในทุก Generation ตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z
7 ใน 10 ของคนกรุงเทพ อยู่ในสภาวะ “หมดไฟในการทำงาน”
จากผลวิจัยดังกล่าว พบว่า
- คนกรุงเทพ 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน
- คนกรุงเทพ 57% อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำงาน
- คนกรุงเทพ 31% ไม่อยู่ในภาวะหมดไฟ
ผลการวิจัยสรุปรวมคนกรุงเทพที่มีภาวะหมดไฟจำนวน 12% และคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำงานอีก 57% จึงกล่าวได้ว่า คนกรุงเทพกว่า 69% หรือคิดเป็น 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะหากคิดเป็นสัดส่วนคนทำงานในกรุงเทพที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 8.8 ล้านคน จากผลการวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า คนทำงานกรุงเทพอยู่ในภาวะหมดไฟกว่า 5.7 ล้านคน
อาการหมดไฟ ยิ่งอายุน้อย ยิ่งน่าเป็นห่วง
ผลวิจัยชิ้นนี้ยังเผยอีกว่า กลุ่ม Gen Y หรือคนที่มีช่วงอายุ 23 – 38 ปีตกอยู่ในภาวะหมดไฟมากถึง 17% ส่วนคนกลุ่ม Gen Z หรือคนที่มีอายุต่ำกว่า 22 ปีตกอยู่ในภาวะนี้สูงถึง 13%
เรียกได้ว่า อาการหมดไฟของคนวัยทำงานในกรุงเทพนั้น “ยิ่งอายุน้อย ยิ่งน่าเป็นห่วง”
สาเหตุหลักงานหนักเกินไป สภาพแวดล้อม นายจ้างทำพิษ
งานวิจัยชี้แจงว่า สาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟมาจากสาเหตุหลัก 3 อย่างดังนี้
1. ปริมาณงานไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนทำงาน
การทำงานในยุคปัจจุบัน คนหนึ่งคนอาจจะต้องแบกภาระงานมากถึง 4 – 5 อย่างในตำแหน่งเดียว ทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้
2. ขาดอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ
การขาดอุปกรณ์ที่ช่วยให้งานสำเร็จได้ง่ายขึ้นหรือช่วยลดกระบวนการในการทำงาน ทำให้คนทำงานในยุคนี้ต้องใช้เวลาทำงานนานจนท้อ และรวมถึงเพื่อนร่วมงาน งานวิจัยพบว่า ถ้าคนทำงานยุคนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานก็ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟได้
3. โครงสร้างองค์กรที่ยุ่งเหยิง และหัวหน้าที่ไม่ดี
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการหมดไฟในที่ทำงานคือ หากองค์กรขาดความยืดหยุ่นในเชิงโครงสร้างการจัดการ รวมถึงหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ มากกว่านั้นหากมีการเลือกที่รักมักที่ชัง ก็จะส่งผลให้คนที่ทำงานเกิดปัญหาหมดพลังหรือหมดไฟในการทำงานได้ง่ายๆ
9 กิจกรรม แก้ภาวะหมดไฟ
แนวทางการเติมไฟในการทำงาน ผลการวิจัยพบวิธีการคลายเครียดที่คนทำงานในกลุ่มศึกษาเลือกใช้มีดังนี้
- เล่น Social media
- พูดคุยกับครอบครัว
- พูดคุยกับเพื่อน
- ฟังเพลง
- ออกกำลังกาย
- เล่นเกม
- ทานอาหาร
- สวดมนต์
- ดูภาพยนตร์
ผลวิจัยเสนอ ธุรกิจอะไรที่จะตอบโจทย์กลุ่มคนหมดไฟ
ในงานวิจัยชิ้นนี้เสนอกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะตอบโจทย์คนหมดไฟโดยเรียกว่า “FRESH strategy” ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีความสดใหม่และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของปัญหาหมดไฟ โดยแบ่งได้ดังนี้
F = Fulfil Friend and Family: การทำธุรกิจจะต้องเข้าถึงกลุ่มเพื่อน และครอบครัว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้เช่น คอร์สสอนทำอาหารเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนกันเป็นครอบครัว หรือเรียนกับกลุ่มเพื่อน
R = Recharge your energy: ธุรกิจที่พร้อมเยียวยาคนหมดไฟอย่างเร่งด่วน เช่น คาเฟ่สุนัข เพื่อช่วยในการบำบัดความเครียด
E = Entertainment: แน่นอนว่าคนที่เครียดก็ต้องการสิ่งบันเทิงในการบรรเทาความเครียด ธุรกิจอย่างภาพยนตร์ สตรีมมิ่ง หรือแอปพลิชันใช้ฟังเพลงจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตในยุคนี้
S = start something new: เพราะการทำงานแบบเดิมๆ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ ธุรกิจที่พาไปเปิดโลกใหม่จึงเป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงสมบุกสมบันออกแนวผจญภัย หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
H= heal your health: แน่นอนว่าภาวะหมดไฟ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ดังนั้นเทรนด์ธุรกิจสุขภาพที่จะช่วยบำบัดจิตใจจึงน่าสนใจ อย่างในต่างประเทศมีบริการ chatbot ที่จะช่วยให้คนหมดไฟมาระบายปัญหา ความเครียด เพราะถึงที่สุดแล้ว หนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ คือการได้ระบายความในใจออกไป ไม่ว่าจะได้พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือเทคโนโลยีที่เข้าใจอาการเหล่านี้ก็ตาม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา