เลิกโทร 1112 ได้แล้ว! BURGER KING จับมือ Lalamove สั่งเบอร์เกอร์ผ่านเว็บไซต์ ขอโตออนไลน์

ปกติถ้าจะสั่ง BURGER KING ต้องโทร 1112 แต่หลังจากนี้ไม่ต้องโทรแล้ว เพราะไปร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Lalamove ให้ลูกค้าสั่งผ่านหน้าเว็บไซต์ แล้วหลังจากนั้นรอรับแบบเดลิเวอรี่จาก Lalamove ได้เลย

แช่เบอร์ 1112 ไว้เหมือนเดิม แต่พยายามไม่ให้โต เน้นออนไลน์แทน

BURGER KING แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์รายใหญ่ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Lalamove บริการโลจิสติกส์ออนดีมานด์มาแรงแห่งยุค ดีลนี้เป็นการปรับตัวของ BURGER KING ประเทศไทยที่ต้องนำตัวธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากฐานลูกค้าที่โตขึ้นมาก การขยายช่องทางสั่งอาหารไปสู่ออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ “ถ้าย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนหน้าจะพบว่า ฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ 60% แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นลูกค้าหลักของเราคือคนไทย 60%” 

  • ก่อนหน้านี้หากจะสั่ง BURGER KING แบบเดลิเวอรี่จะต้องโทรผ่านเบอร์ 1112 ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า ยอดขายผ่านการโทรสั่งเดลิเวอรี่ของ BURGER KING คิดเป็น 5% ของยอดขายเท่านั้น

แต่หลังจากนี้เมื่อ BURGER KING จับมือกับ Lalamove การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่จะไม่ทำผ่าน 1112 แล้ว แต่ให้เข้าไปสั่งที่ delivery.burgerking.co.th

“ตัวเบอร์โทร 1112 ก็ยังเอาไว้เหมือนเดิม ตลาดจะอยู่เท่าเดิม ไม่โตแล้ว ต่อไปไม่ต้องกดเบอร์ 1112 เพราะจะให้ไปสั่งในเว็บไซต์แทน”

  • จากการทดลอง Soft Launch บริการเดลิเวอรี่พบว่า ค่าเฉลี่ยยอดบิลของลูกค้ามีราคาสูงขึ้น 2 เท่า คิดโดยเฉลี่ยยอดบิลอยู่ที่ 220 บาท แต่เมื่อสั่งแบบเดลิเวอรี่จะอยู่ที่ 400 – 500 บาท ผู้บริหาร BURGER KING ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะสั่งกันเป็นกลุ่ม ถือเป็นสัญญาณที่ดี
ซ้าย-นายชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการลาล่ามูฟ ประเทศไทย ขวา-ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ขยายสาขาใหม่นับจากนี้ จะมี Lalamove เป็นพันธมิตรหลัก

การขยายสาขาของ BURGER KING ในปี 2018 ที่วางไว้ประมาณ 20 สาขาหลังจากนี้จะไม่ผูกตัวเองไว้กับ 1112 อีกต่อไป เพราะหลังจากการจับมือกับ Lalamove ทำให้มีความแกร่งในด้านการจัดส่งสินค้า

ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการลาล่ามูฟ ประเทศไทย บอกว่า “ตลาดอาหารเดลิเวอรี่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก คาดว่าโต 11 – 15% มีขนาดใหญ่ถึง 27,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้จับมือกับ LINE ประเทศไทย ส่วน BURGER KING ก็นับเป็นฟาสต์ฟู้ดเจ้าแรกที่ได้มาจับมือด้วย”

ปัจจุบัน Lalamove มีพาหนะสำหรับขนส่งเป็นมอเตอร์ไซค์กว่า 40,000 คัน บริการทั่วกรุงเทพและปริมณฑล นอกจากนั้นกรรมการผู้จัดการของ Lalamove ยังบอกด้วยว่า บริการของ Lalamove ครองตลาดไปกว่า 60 – 70% ของตลาด ด้วยความแข็งแกร่งของบริการของ Lalamove ตัวเลขเหล่านี้เป็นเรื่องน่าพึงพอใจอย่างมาก

ปี 2016 Lalamove มีรายได้ 140 ล้านบาท แต่ปี 2017 นี้รายได้จะพุ่งสูงไปถึง 540 ล้านบาท

สรุป : เมื่อ “ออนไลน์” คือฐานที่มั่นของธุรกิจ จับมือพันธมิตรดิจิทัลจึงสำคัญ

ปีนี้ BURGER KING มีรายได้เพิ่มขึ้นมา 30 – 40% รายได้ของปีนี้จะตกอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ยอดขายของ BURGER KING ที่โทรผ่าน 1112 มาสั่งคิดเป็น 5% เท่านั้น ดังนั้นการจับมือกับ Lalamove เพื่อเสริมความแกร่งในการทำตลาดเดลิเวอรี่ ยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ว่าในปีหน้า 2018 คือจะทำให้ได้สัดส่วนถึง 10% ของยอดขายทั้งหมด

นอกจากนั้น BURGER KING ยังมองว่า จะทำบริการ Pick-up ที่ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าในขณะเดินทางแล้วมารับที่สาขาได้เลย (ตรงนี้ยังไม่ชัดว่าจะทำเมื่อไหร่ แต่บอกว่าจะทำแน่) ส่วนเรื่องการจ่ายเงินต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยังยินดีจ่ายเงินเป็นเงินสดที่จุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้น การผลักดันให้จ่ายเงินในรูปแบบ Cashless Society ก็เป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม หลายคนตั้งคำถามถึงการทำรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ แต่ไม่ทำแอพพลิเคชั่นของ BURGER KING แต่คำตอบที่ได้คือ “แม้แต่เจ้าใหญ่อย่างไก่ทอดเจ้าหนึ่งยังทำแต่เว็บไซต์ ยกเลิกแอพพลิเคชั่นไปแล้ว เราก็คิดว่าเดินทางนั้น แต่ถ้าถามว่าจะแอพพลิเคชั่นไหม อันนี้ต้องขอคิดก่อน”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา