“บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก” โมเดลธุรกิจใหม่ ผนึกโรงพยาบาลพันธมิตร ขยายฐานลูกค้ากลุ่มระดับกลาง

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก (Bumrungrad Health Network) เพื่อขยายฐานลูกค้าเซกเม้นต์ใหม่ กลุ่มคนระดับกลางในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้คุณภาพมาตรฐาน

เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า บำรุงราษฎร์ ได้ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจรูปแบบใหม่ พันธมิตรรายแรกคือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งมอบการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยและเสริมสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน

นพ. สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เปิดเผยว่า นับจากที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เริ่มสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) แล้วจำนวน 58 แห่ง ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลภาคเอกชน ภาครัฐ และโรงเรียนแพทย์ โดยการทำงานกับเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมาเป็นลักษณะของการส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางจากโรงพยาบาลพันธมิตรมาที่บำรุงราษฎร์เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง (Continuing of care)

อย่างไรก็ดี ทิศทางของบำรุงราษฎร์นับจากนี้เป็นต้นไปจะเพิ่มความร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเสริมพลัง (Empower) สร้างศักยภาพการแข่งขันแก่โรงพยาบาลพันธมิตรและสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปด้วยกัน

ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจใหม่ที่ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก” นำเสนอนั้นจะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มคนระดับกลางทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด ตลอดจนกลุ่มผู้ซื้อประกันสุขภาพ โดยจะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ณ โรงพยาบาลพันธมิตร 

การดำเนินงานจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Joint Operation รวมถึงด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรและรายได้ มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และความชำนาญทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ และมีแนวทางการรักษาผู้ป่วยบนมาตรฐานใกล้เคียงกัน เป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยของโรงพยาบาลพันธมิตรได้เข้าถึงการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอีกทางหนึ่งด้วย

นพ. สุธร กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นบำรุงราษฎร์จะเน้นการให้บริการใน 4 กลุ่มโรคหลักคือ 1.โรคกระดูกสันหลัง 2.โรคข้อ 3. ผู้ป่วยวิกฤต และ 4. โรคตา ส่วนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลพันธมิตรว่าต้องการให้เข้าไปช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านใด 

สำหรับการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร อย่างที่แรกได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์กระดูกสันหลังและศูนย์ข้อ” ร่วมกับกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในการส่งมอบคุณภาพการรักษาที่ดีแก่ผู้ป่วยและสร้างการเติบโตไปด้วยกัน ถือเป็นต้นแบบแห่งแรกในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่

แนวคิดหลักคือเราต้องการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และเปิดตลาดในกลุ่มเป้าหมายใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือว่าเปิดตลาดใหม่เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตร การดำเนินการจะตั้งอยู่บนบริบทของโรงพยาบาลพันธมิตรและมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ เพื่อให้มีต้นทุนและค่าบริการที่สามารถแข่งขันได้”

ปัจจัยที่ทำให้บำรุงราษฎร์ตัดสินใจเปิดตลาดในเซกเม้นต์ใหม่นี้ เนื่องจากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความร่วมมือกับโรงพยาบาลพันธมิตรในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาว่าโรงพยาบาลพันธมิตรต้องการการสนับสนุนจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เช่น โรงพยาบาลหนึ่งอาจมีความชำนาญการผ่าตัดทั่วไป แต่ก็สามารถเพิ่มการผ่าตัดเฉพาะด้านในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตรเองที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนทำให้โรงพยาบาลพันธมิตรมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดของตัวเองมากขึ้น 

ขณะที่บำรุงราษฎร์เองก็เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีความชำนาญการในการรักษาโรคในระดับสูง และเมื่อพิจารณาจากโอกาสทางธุรกิจจะพบว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของคนระดับกลางมีมากขึ้น ความเป็นเมืองขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น และโครงสร้างประชากรของสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ดังนั้นจะพบว่ามีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่สูงมาก และเมื่อนำจุดแข็งของทั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตรมารวมกันก็จะช่วยส่งมอบคุณค่าแก่ผู้ป่วยและสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กันได้เป็นอย่างดี

“ที่สำคัญคือเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งแต่เดิมอาจเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนี้จะเริ่มทำงานร่วมกันเข้มข้นมากขึ้น มีการลงทุนร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ลึกขึ้นกว่าเดิม เมื่อพันธมิตรแข็งแรง เราก็แข็งแรงขึ้นตามไปด้วย”

รูปแบบความร่วมมือกันในลักษณะนี้ยังส่งผลดีต่อระบบสุขภาพโดยรวมเพราะสิ่งสำคัญที่สุดของโมเดลนี้คือการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยแบ่งเบาภาระแก่โรงพยาบาลภาครัฐ ในขณะเดียวกันยังทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าเดิม และเกิดผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย

จอห์น ลี โกะชุน ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังถือเป็นเด็กใหม่เมื่อเทียบกับบำรุงราษฎร์หรือโรงพยาบาลอื่นๆในประเทศไทย เนื่องจากเพิ่งก้าวจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา 

ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในการดูแลจำนวน 8 แห่งและกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ในบางเรื่องโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ทั้งหมดเพราะมีคนที่ทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว การจับมือกันน่าจะดีกว่า นี่จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันในครั้งนี้ 

“ผมเชื่อว่าความร่วมมือแบบนี้จะไม่มีที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิแห่งเดียว อย่างที่บอกว่า ณ เวลานี้เรามีโรงพยาบาล 8 แห่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีอีก 2 แห่งที่กำลังจะลงทุนเพิ่ม และภายในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้เราตั้งใจจะไปให้ถึง 20 แห่ง เชื่อว่าถ้าโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิทำได้สำเร็จ เราอาจจะขยายความร่วมมือไปในโรงพยาบาลทั้งหมด 20 แห่งซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคนไข้ของเรา คนไข้ของเราที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆจะได้รับบริการที่ดีจากโรงพยาบาลพริ้นซ์ฯที่จับมือร่วมให้บริการกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นี่คือภาพที่เราต้องการ”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา