ในอดีตการจะสร้างแบรนด์สินค้า หรือบริษัทให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ต้องใช้แผนการตลาด หรือการประชาสัมพันธ์ แต่ ดอม เหตระกูล ไม่เลือกวิธีนั้น กลับใช้รูปแบบซีเอสอาร์เพื่อสร้างชื่อให้กับบริษัทนำเข้าอุปกรณ์ตกแต่ง และจัดอีเวนท์บิ๊กไบค์ เพราะต้องการยกระดับมุมมองเรื่องมอเตอร์ไซค์ของบุคคลทั่วไปก่อน
Big Bike ยัง Bad ในสายตาคนทั่วไป
ดอม เหตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอเตอร์ไซเคิล คิงดอม จำกัด เล่าว่า ตอนนี้ Biker หรือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ กลายเป็นคำที่ใช้พูดกันทั่วไปแล้ว เพราะปัจจัยเรื่องราคา และบริการทางการเงิน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ หรือ Big Bike ได้ง่ายขึ้น แต่ในประเทศไทยก็มีผู้ขับ Big Bike ทั้งดี และไม่ดี ซึ่งผู้บริโภคเลือกที่จะจดจำสิ่งที่ไม่ดีมากกว่า ดังนั้นหากต้องการทำตลาดรถมอเตอร์ไซค์ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องยกระดับมุมมองของผู้บริโภคก่อน
“ธุรกิจหลักของผมคือผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายมอเตอร์ไซค์แบรนด์ไทรอัมพ์จากประเทศอังกฤษภายใต้บริษัท ‘บริทไบค์’ แต่ตอนนี้ตลาด Big Bike มันขยายตัวเร็วมาก และไทรอัมพ์ที่ขายผ่านผมปีนี้น่าจะได้ 900 คัน ตอนนี้ทำได้แล้ว 600 คัน และถ้ารวมการขายไทรอัมพ์ของดีลเลอร์ทั้งหมดปีนี้น่าจะได้ 1,400 – 1,500 คัน ดังนั้นเมื่อตลาดโต โอกาสทางธุรกิจก็มี แต่ผมคิดว่ามันจะโตได้มากกว่านี้ถ้ามีกิจกรรมดีๆ เข้ามาช่วย เพราะก่อนหน้านี้เหล่า Biker ก็แค่รวมกลุ่มกัน และแบกของต่างๆ ไปแจกตามที่ห่างไกลในต่างจังหวัด”
CSR ดีๆ ก็สร้างแบรนด์ที่ไม่มีคนรู้จักได้
ดังนั้น ดอม จึงจัดตั้งบริษัท มอเตอร์ไซเคิล คิงดอม จำกัด เพื่อจัดกิจกรรมที่ยกระดับภาพลักษณ์ของการขับขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ให้ดีขึ้น เริ่มต้นที่งาน The Distinguished Gentlemans Ride 2016 ระหว่างวันที่ 24 – 25 ก.ย. ในบริเวณห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ โดยเปิดให้ Biker ที่สนใจร่วมบริจาคเงินขั้นต่ำ 70 บาท ผ่านเว็บไซต์ gentlemansride.com หรือบริเวณที่จัดงาน โดยเงินนั้นจะไปมอบให้กับมูลนิธิ Movember เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคร้ายอื่นๆ ที่ผู้ชายไม่สนใจ
ขณะเดียวกันภายในงานนี้จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับ Biker ผ่านการจัดกิจกรรมให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่สนใจแต่งตัวแบบสุภาพบุรุษ หรือใส่สูท ผูกไทด์ เพื่อขับขี่รอบกรุงเทพเป็นระยะทาง 25 กม. เริ่มที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม ผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า และมาจบที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ที่สำคัญงาน Distinguished Gentlemans Ride เป็นงานที่จัดพร้อมกันทั่วโลก เริ่มในประเทศออสเตรเลียเป็นที่แรกในปี 2555 และปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้ว กว่า 50,000 คน จาก 500 เมือง ใน 90 ประเทศทั่วโลก
ไม่ใช่แค่ภาพ แต่ได้ข้อมูลมาทำตลาด
“Biker ที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา ต้องลงทะเบียนว่าขับขี่มอเตอร์ไซค์แบรนด์อะไร ทำให้บริษัทเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาศึกษา เพื่อวางแผนการตลาด เพราะหลังจากนี้ “มอเตอร์ไซค์เคิล คิงดอม” จะจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งของมอเตอร์ไซค์ และที่ผมแยกบริษัทนี้ออกมา ก็เพราะถ้าเราจัดงานในนาม “บริทไบค์” คนอื่นก็จะเข้าใจว่าเราเป็นไทรอัมพ์ และคนขี่แบรนด์อื่นก็จะไม่เข้ามาร่วม โดยการขายอุปกรณ์นั้นยังไม่มองว่าต้องเป็นแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่จะขอศึกษาความต้องการของตลาดผ่านกิจกรรมครั้งนี้ก่อน”
อย่างไรก็ตาม ดอม ได้ถูกทาบทามจากแบรนด์ MV Agusta (เอ็มวี ออกุสต้า) มอเตอร์ไซค์ระดับพรีเมี่ยม ที่มียอดผลิตทั่วโลก 12,000 คัน/ปี ให้ช่วยนำเข้า และทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจากสามารถทำตลาดไทรอัมพ์ ที่เป็นมอเตอร์ไซค์ระดับพรีเมี่ยมเช่นกัน ติดตลาดไทยอย่างรวดเร็ว โดยตอนนี้อยู่ระหว่างตัดสินใจเรื่องการวางราคา และนำเข้ารุ่นใดเข้ามาจำหน่าย เนื่องจากตลาดไทยกับแบรนด์นี้ค่อนข้างเล็ก มีผู้ขับราว 100 คัน จึงเชื่อว่ายังมีโอกาสสำเร็จอยู่ เพราะปัจจุบันมีมอเตอร์ไซค์แบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เช่น เคทีเอ็ม
สรุป
การใช้หลักซีเอสอาร์เพื่อสร้างแบรนด์ อาจทำได้ในบางสินค้า และบริการเท่านั้น ซึ่งหากสินค้าหรือบริการเหล่านั้นมีภาพลบมาโดยตลอด การทำซีเอสอาร์อาจช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ดีให้กับผู้บริโภคได้ แต่หากไม่มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ การใช้แผนการตลาด และการประชาสัมพันธ์แบบเดิมน่าจะช่วยสร้างแบรนด์ได้ดีกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา