สำรวจความเชื่อทางศาสนาและสิ่งที่มองไม่เห็นของคนไทยที่ผลักดันธุรกิจสายมูฯ ให้มีมูลค่าหลักหมื่นล้าน

คำพูดอย่าง “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ”  ช่วยสะท้อนการให้คุณค่ากับความเชื่อที่มีผลต่อการกระทำของคนไทยได้อย่างชัดเจน ความเชื่อทางศาสนาก็มีผลกับชีวิตเช่นเดียวกัน อย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นในพิธีกรรมต่าง ๆ ของเหล่าสายมูเตลู อย่างการไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่างก็มาจากความเชื่อด้วยกันทั้งสิ้น แล้วความเชื่อก็มีหลากหลายทั้งในศาสนาพุทธ เชื่อในเทพเจ้า ไปจนถึงภูตผี หรือเชื่อเรื่องพลังงานบางอย่าง

เเม้ว่ารากฐานความเชื่อของคนไทยจะมาจากศาสนาพุทธ เเต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นพุทธเเบบไทย ๆ ที่ผสมเอาหลากหลายความเชื่อเข้ามาไว้ด้วยกัน นอกจากจะกลายเป็นคำสอน ค่านิยม ความเชื่อเเล้ว ในอีกมุมหนึ่งนั้นความเชื่อก็ได้กลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอีกด้วย Brand Inside จะถือโอกาสพาทุกท่านไปสำรวจความเชื่อของคนไทย ผ่านตัวเลขเเละงานวิจัย เพื่อตอบความสงสัยที่ว่าความเชื่อนั้นสามารถกลายเป็นธุรกิจได้อย่างไร  

95% ของคนไทยเชื่อในพระเจ้าและสิ่งที่มองไม่เห็น

Pew Research Center ได้เผยแพร่งานวิจัยชื่อว่า “Buddhism, Islam and Religious Pluralism in South and Southeast Asia” ศึกษาการความเชื่อทางศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และความเป็นพหุวัฒนธรรมทางศาสนาของประเทศในเอเชียใต้และอาเซียน ประกอบด้วยความเชื่อของประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา และไทย

การสำรวจความเชื่อในประเทศไทยมาจากการทำแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,504 คนจากการสุ่มเลือกครัวเรือน ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 1 กันยายน 2022

ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า

  • 95% เชื่อเรื่องกรรม
  • 81% เชื่อในพระเจ้าหรือสิ่งที่มองไม่เห็น
  • 86% เชื่อเรื่องโชคชะตา
  • 65% มองว่าศาสนาสำคัญกับชีวิต
  • 49% เชื่อว่ามนต์และคำสาปแช่งมีผลกับชีวิตคน
  • 24% รู้สึกว่าถูกปกป้องหรือถูกทำร้ายจากสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อปี 

นอกจากนี้ คนไทยโดยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและสายมูกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว กิจกรรมที่ทำและเห็นกันอยู่จนชินตานี้อาจเป็นพื้นฐานที่ส่งผลให้การต่อยอดธุรกิจสายมูเตลูทำได้ง่ายขึ้นโดย 3 กิจกรรมที่คนไทยรู้จัก เข้าใจ และฝึกฝนกันอยู่แล้ว คือ 

  • 84% เคยจุดธูป
  • 63% เคยฝึกการนั่งสมาธิ
  • 30% สวดมนต์ทุกวัน

ต้องนับถือศาสนาพุทธถึงจะเป็น “ไทยแท้”?

ผลสำรวจด้านบนคงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างคนไทยกับศาสนาและสิ่งที่มองไม่เห็นได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยหลายคนยังมองว่าการนับถือศาสนายึดโยงกับความเป็น “คนไทยแท้” ด้วย

รายงานผลการสำรวจฉบับเดียวกันเผยว่า ในประเทศไทย 91% หรือ 9 ใน 10 ของชาวพุทธมองว่าการนับถือศาสนาพุทธเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็นคนไทยแท้ แต่แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองแบบนี้ ศาสนาพุทธที่คนไทยยึดถือกันอยู่ในปัจจุบันกลับมีส่วนประกอบมาจากความเชื่อในศาสนาอื่นที่รับเข้ามารวมกับความเชื่อท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว

ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยอธิบายให้ Brand Inside ฟังว่า ศาสนาผีเป็นสิ่งที่มีมาก่อนที่ไทยจะรับศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาในไทย โดยเชื่อเรื่องสิ่งที่อยู่ในโลกธรรมชาติ วิญญาณ โลกหลังความตาย พอรับศาสนาเข้ามา ผสมกับความเชื่อศาสนาผีและความเชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เลยหลอมรวมเป็นความเชื่อของไทยในปัจจุบันที่มีการบูชาวัตถุมงคล การกราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ใช่แค่พระในศาสนาพุทธ แต่รวมไปถึงความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและเรื่องอื่น ๆ ด้วย หรือที่เรียกกันว่า การมูเตลู

ดังนั้น แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในผลสำรวจจะมองว่าศาสนาพุทธคือสิ่งที่แสดงความเป็นไทยแท้ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเชื่อกันอยู่นั้นประกอบด้วยความเชื่อหลายอย่าง

สภาพสังคมทำให้คนไทยต้องเป็นสายมูฯ

แม้คนไทยจะมีความเชื่อหลากหลายที่ผสมกันระหว่างศาสนาผี พราหมณ์ พุทธ และความเชื่อท้องถิ่น แต่ไม่ใช่แค่ความเชื่อเท่านั้นที่ทำให้คนไทยต้องเดินสายไปมูฯ ในที่ต่าง ๆ แต่มาจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตด้วย อย่างที่เห็นกันว่า เรามักจะไปมูฯ ในสถานที่ที่เล่ากันปากต่อปากว่าจะทำให้สมหวังไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ทั้งความรัก การงาน การเงิน และโชคลาภ

อ. คมกฤช อธิบายว่า คนไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการมูฯ เพราะการไม่มีสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตที่ดีพอ ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่มีอะไรแน่นอน เลยต้องหันไปพึ่งพาบรรดาสิ่งที่มองไม่เห็นและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้สังเกตได้ว่า ในประเทศที่มีสวัสดิการดี เรื่องความเชื่อเลยไม่ได้มีความสำคัญเท่าในไทย 

นอกจากนี้ ภาพจำที่ว่ามีแค่คนต่างจังหวัดที่เป็นสายมูฯ ก็ยังเป็นความเข้าใจผิด เพราะคนรุ่นใหม่ในเมือง ชนชั้นกลาง และผู้มีการศึกษาก็มีความเชื่อเช่นกัน เพียงแต่ปฏิเสธศาสนาที่จัดตั้งในรูปแบบองค์กรที่รู้สึกว่ากดทับปัจเจกบุคคลอยู่

มูฯ จนเป็นจุดขาย สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

เมื่อการมูเตลูและความเชื่อทางศาสนาวางรากฐานแข็งแรงมาอย่างยาวนานอยู่แล้วในสังคมไทย ความเชื่อเหล่านี้ก็กลายเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจสายมูฯ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ

จากบทสัมภาษณ์ อ. คมกฤช  เล่าว่า การมีชุดความเชื่อที่หลากหลายเมื่อนำประกอบกับแนวคิดแบบทุนนิยมและการบริโภคนิยมก็เกิดเป็น “สินค้าทางความเชื่อ” ขึ้นมา เเละกลายเป็นตลาดใหญ่ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขายสินค้าไสยศาสตร์

ยิ่งไปกว่านั้น การมูเตลูกลายเป็นจุดขายของไทยไปแล้วจากภาพจำของคนต่างชาติที่มองว่าเป็นสิ่ง Exotic ทั้งจากหนังผีไทย ของที่ดูขลัง ดูแรง ที่หาไม่ได้จากประเทศอื่น อย่าง กุมารทอง ลูกกรอก ฯลฯ ยังไม่รวมถึงของที่มาจากเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในไทยอีกที่ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดสินค้าความเชื่อของไทยในสายตาคนต่างประเทศ พอสินค้าขายดี ก็เกิดความคิดสร้างสรรค์ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมาเพื่อการแข่งขันในระบอบทุนนิยม

อย่างธุรกิจพระเครื่อง มีงานวิจัยในปี 2019 จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มีมูลค่าอยู่ที่ราว 17,000-23,000 ล้านบาท เฉพาะในตลาดของคนไทย ขณะที่สินค้าความเชื่อไม่ได้มีแค่พระเครื่องเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสอีกมาก อย่างการเอาสินค้ามาปรับรูปลักษณ์ให้น่ารักมากขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทอื่นอีกอย่างวอลเปเปอร์สิ่งศักดิสิทธิ์ เครื่องลาง สร้อยหินสีที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนเครื่องประดับทั่วไป เสื้อสกรีนลาย 

บริการความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือการรับดูดวง พิชา กุลวราเอกดำรง หรือแม่หมอพิมพ์ฟ้า เจ้าของเพจ “พิมพ์ฟ้ามาโปรด” ที่รับดูดวงกล่าวว่า อาชีพหมอดูเป็นอาชีพบริการทางความเชื่อ เป็นการทำงานอย่างหนึ่งที่มีค่าตอบแทนอย่างชัดเจน 

พิมพ์ฟ้ากล่าวว่า อาชีพดูดวงยังต่อยอดให้เกิดรายได้จากทางอื่นด้วย อย่างเช่น การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ขายสินค้าด้านความเชื่อ เช่น สร้อยข้อมือมงคล หรือวอลเปเปอร์มูเตลูที่ทำรายได้ให้บริษัทของเธอเกือบ 8 หลัก รวมทั้งมีรายได้จากการรับเขียนอัปเดตดวงรายเดือนบน LINE@ ที่ทำร่วมกับ CIMB ด้วย

ไม่เฉพาะสินค้าทางความเชื่อเท่านั้น แต่การมูฯ ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวสายมูฯ ได้อีกด้วย โดยการท่องเที่ยวแบบนี้เน้นไปที่การเดินทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อซึ่งไม่ได้แค่สร้างรายได้ให้สถานที่อย่างวัดหรือศาลเจ้าเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในสสถานที่ใกล้เคียงและการใช้จ่ายไปกับอาหารในท้องถิ่นได้ด้วย

ในปี 2019 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยวประเภทนี้ไว้ว่า เฉพาะการแสวงบุญอย่างเดียวสามารถสร้างเงินหมุนเวียนในระบบได้มากถึง 10,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศทั้งหมด

อ. คมกฤช ยังได้พูดถึงโอกาสในการจัดเก็บภาษีจากสินค้าสายมูเตลูไว้ด้วยว่า ได้พูดคุยกับกลุ่มแคร์ของพรรคเพื่อไทย (ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง) และมีผู้เสนอให้นำเรื่องการมูขึ้นมาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เป็นธุรกิจบนดิน เพื่อสร้าง Soft Power และเพิ่มโอกาสในการเก็บภาษีจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างมากนี้ รวมทั้งจะได้ถือโอกาสจัดระเบียบตลาดนี้ไปด้วยเลยเพื่อป้องกันการหลอกลวง ชักจูงให้เชื่ออย่างผิด ๆ และการโกง ทั้งนี้ ก็ยังมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์จากหลายคนว่าจะขัดกับความเจริญและความเชื่อทางวิทยาศาสตร์หรือไม่

ความเชื่อทางศาสนามีผลต่อคนไทยในหลายมิติ ทั้งเป็นตัวกำหนดการกระทำ ศีลธรรมของสังคม ว่าให้ทำความดี ไม่ทำความชั่ว ทั้งเป็นเครื่องมือทางจิตใจที่ช่วยต่อสู้กับความไม่แน่นอนของสังคมและเศรษฐกิจด้วย พอมาหลอมรวมกับทุนนิยมที่ทุกคนต้องดิ้นรนหาเงินเลยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล ดังนั้น ตราบใดที่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยพยุงจิตใจและสร้างรายได้ สายมูเตลูก็คงจะอยู่ต่อไป ต่างกับเทรนด์อื่น ๆ ที่เข้ามาแล้วเดี๋ยวก็จากไปเพราะถูกผู้คนหลงลืม

ที่มา – Pew Research Center, รัฐบาลไทย, KResearch, Brand Inside 1, Brand Inside 2

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา