โดย บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง
ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในตลาดทุนไทยได้มีการออกตราสารการลงทุนชนิดใหม่ที่ชื่อว่า “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” หรือ “Depositary Receipt หรือ DR” โดยกลไกก็คือผู้ออกตราสาร DR (ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้เป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์) ที่จะเสนอขายตราสารดังกล่าวแก่นักลงทุนในประเทศได้นั้น จะต้องมีหุ้นหรือกองทุนรวม ETF ต่างประเทศนั้นๆ ไว้ในมือเพื่อรองรับหากนักลงทุนในประเทศต้องการเปลี่ยนสภาพจาก DR เป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อถือตรง โดยถูกกำหนดให้ DR จำนวน 1 หน่วย ให้สามารถแปลกได้เท่ากับหุ้นต่างประเทศที่รับฝากจำนวน 1 หุ้นเลย
ดังนั้น DR จึงเป็นการออกแบบตราสารที่ทำให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือกองทุนรวม ETF ในต่างประเทศได้โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกระบวนการย่อมง่ายกว่าการออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศ เพราะมีการผ่านตัวกลางซึ่งก็คือผู้ออก DR ให้ช่วยบริหารจัดการให้…เรียกได้ง่ายๆ ว่าเป็นการยกหุ้นต่างประเทศมาให้่ซื้อขายได้บนตลาดหุ้นไทย ในรูปแบบของการซื้อขายใบร้บฝากแทน
อาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่า DR ตัวแรกของประเทศไทยชื่อว่า “E1VFVN3001” เป็น DR ที่แสดงสิทธิการรับฝาก กองทุนรวม ETF ที่ชื่อว่า “E1VFVN30” ที่ถือหุ้น 30 ตัวตามดัชนี VN30 ของตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ประเทศเวียตนาม และ ETF ตัวนี้ก็จดทะเบียนซื้อขายในประเทศดังกล่าวด้วย ซึ่ง DR ตัวแรกนี้ก็ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ซึ่งมีรหัสสมาชิก “01” เวลาออกตราสาร DR ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเลยให้เพิ่มรหัส 01 ต่อท้ายรหัสของ DR ด้วยเพื่อให้นักลงทุนรู้ว่าใครเป็นผู้ออกตราสารนั้น E1VFVN3001 จึงเป็นตราสารการลงทุนที่ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่จะสะท้อนสภาวะของตลาดหุ้นเวียตนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและในช่วงหลังๆ ค่าเงินดองในระยะหลังก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจลงทุนในระยะยาวเกาะกระแสการเติบโตดังกล่าว
การซื้อขาย DR ก็ง่ายเหมือนกับซื้อขายหุ้นทั่วไป เพียงแค่คุณมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ใดๆ ในประเทศเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สามารถซื้อขาย DR ได้เหมือนหุ้นอีกตัวหนึ่ง โดย 1 หน่วยของ DR ก็จะเป็นตัวแทนของ 1 หน่วยของกองทุนรวม ETF ที่หลักทรัพย์บัวหลวงเรารับฝากไว้เลย
ดังนั้นข้อดีของ DR ก็คือการให้ความสะดวกกับผู้ลงทุนในประเทศในการเอื้ออำนวยให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะการซื้อขาย DR ก็เหมือนการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ ได้ทางอ้อม และการถือครอง DR ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ แต่ได้รับความสะดวกกว่ามากเพราะผู้ออกจะเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการให้หลายๆ เรื่อง
จึงเป็นทางเลือกเพิ่มเติมของการที่ผู้ลงทุนอาจเลือกที่จะไปเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อขอลงทุนตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีกระบวนการต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม นอกจากนี้ การซื้อขาย DR ยังซื้อขายเป็นเงินบาท ทำให้ท่านไม่ต้องมีกระบวนการแปลงสกุลเงินตราต่างประเทศและความที่ DR ถูกซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษี capital gain ทำให้สะดวกกว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่หากท่านซื้อขายแล้วมีกำไรนำเข้าในปีปฏิทินต้องเสียภาษีด้วย
ข้อพึงระวังของ DR ก็คือ ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของ DR ที่ออกแต่ละตัวว่าเป็นการรับฝากสินทรัพย์ใด มีความเสี่ยง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และที่สำคัญคือ ผู้ออกเป็นใคร มีฐานะการเงินความมั่นคงอย่างไร มีนโยบายในการทำธุรกิจอย่างไร และ DR นั้นๆ มีผู้ดูแลสภาพคล่องหรือไม่ด้วย เพราะสิ่งที่ท่านในฐานะนักลงทุนต้องมากที่สุดย่อมเป็นความสามารถที่ท่านจะซื้อจะขาย DR นั้นได้ในราคาที่ยุติธรรมและมีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด
หลังจาก DR E1VFVN3001 ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาถึงแม้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงซึ่งก็กระทบถึงตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเวียตนามด้วย แต่ เราพบว่ามีแรงซื้อขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องและมีการสะสม DR โดยนักลงทุนไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะตลาดหุ้นเวียตนามเป็นที่จับมาตองของผู้ลงทุนไทยอยู่แล้ว
นอกจากนี้ สภาพคล่องของการซื้อขายที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจมีปริมาณการตั้งซืื้อขายที่เหมาะสม และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าหุ้นบางตัวหรือแม้กระทั่ง ETF อื่นๆ หลายตัวเสียด้วยซ้ำ
ปัจจุบัน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมี DR ที่ออกอยู่ตัวเดียวแต่ต้องเรียกว่าเป็นตราสารที่จุดประกายให้กับตลาดหุ้นไทยได้ค่อนข้างมากกระแสที่ได้รับจากตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนในแถบประเทศเพื่อนบ้าน นักลงทุนบุคคลหรือนักธุรกิจที่มีความักคุ้นและค้าขายกับเวียตนามและรับรู้ถึงการเติบโตดังกล่าวได้ให้ความสนใจลงทุนกันมาก ตลอดจนนักลงทุนสถาบันที่สนใจการลงทุนในภูมิภาคได้มีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ DR กันเป็นอย่างมากหลังจากที่ได้เห็นการระดมทุนของ DR ตัวแรกของไทย และเห็นภาพการซื้อขายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
รวมถึงการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน การออก DR ดูๆ แล้วจะว่าไปก็คือการทำ Digital Tokenization ของ Financial Assets รูปแบบหนึ่งแหละครับ และทุกวันนี้หลักทรัพย์ที่ซื้้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นรูปแบบ digital อยู่แล้วเพราะเราซื้อขายหลักทรัพย์กันบนกระดานอิเลคโทรนิคส์มานานแล้ว
ดังนั้นเชื่อว่านวัตกรรมที่มีประโยชน์ที่ตั้งบนพื้นฐานของสิ่งที่คุณค่าทางเศรษฐกิจน่าจะเป็น คำตอบสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการออมเงินหรือลงทุนอย่างแท้จริงครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา