ส่องจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระบาด กระทบรายได้ปี 63 มากแค่ไหน

ปี 2563-2564 ปีแห่งวิกฤตโควิด เมื่อการล็อคดาวน์ และ Work From Home ทำให้การเดินทางลดน้อยลง รถไฟฟ้า BTS ระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ในวันที่จำนวนผู้โดยสารลดลง

สถานการณ์โควิด-19 ที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ล่วงเลยเข้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี กว่าๆ แล้ว นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศไทย การประกาศล็อคดาวน์ ขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน Work From Home ให้มากที่สุด ย่อมส่งผลต่อการเดินทางของคนไทยที่ลดลง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีระบบขนส่งมวลชนหลักๆ อยู่สองระบบ นั่นคือรถไฟฟ้า BTS

เมื่อการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ลดลงในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงในปี 2564 นี้ ที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างรุนแรง จำนวนผู้โดยสารของ BTS ต้องลดลงอย่างแน่นอน

BTS บีทีเอส กรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

รถไฟฟ้า BTS ปี 2563 จำนวนผู้โดยสารหายไปเกือบครึ่ง

ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด รถไฟฟ้า BTS เคยมีผู้โดยสารอยู่ราว 236.9 ล้านคนต่อปี ในปี 2562 แต่หลังจากโควิด-19 ระบาดในปี 2563 จำนวนผู้โดยสารลดลงเกือบครึ่ง เหลือเพียง 124.9 ล้านคนต่อปี (ลดลง 47.3%)

ส่วนจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันจากเดิมที่เคยมีคนกรุงเทพฯ เดินทางเฉลี่ย 735,385 คน ในปี 2562 ลดลงเหลือ 408,341 คน ในปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาด

เมื่อจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง คำถามถัดไปที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงกระทบต่อการทำธุรกิจของรถไฟฟ้า BTS หรือไม่

หากจะอธิบายการทำธุรกิจของรถไฟฟ้า BTS ต้องบอกก่อนว่า BTS Group Holdings แบ่งการทำธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

    • Move ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรถไฟฟ้า BTS ทั้งสายสุขุมวิท และสายสีลมอยู่ในส่วนนี้
    • Mix ธุรกิจสื่อนอกบ้าน โฆษณา และการตลาด (VGI) บริการทางการเงิน (Rabbit LINE Pay)
    • Match ธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และบริการ

สัดส่วนรายได้ของแต่ละกลุ่มแบ่งออกเป็น Move สัดส่วน 90%, Mix 7% และ Match อีก 3%

ภาพจาก BTS Group

สำหรับรายได้ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ในปี 2020 ที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจคือ ธุรกิจ Move (ขนส่งมวลชน) รายได้ไม่ได้ลดลงเลยแต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง จากเดิมที่เคยมีรายได้ 29,308 ล้านบาทในปี 2019 เพิ่มเป็น 31,401 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 7%

ในขณะที่รายได้ในธุรกิจ Mix และ Match ลดลงมหาศาล: ธุรกิจ Mix เคยมีรายได้ 5,866 ล้านบาทในปี 2019 ลดลงเหลือ 2,614 ล้านบาทในปี 2020 หรือลดลง 55% ส่วนธุรกิจ Match เคยมีรายได้ 1,995 ล้านบาทในปี 2019 ลดลงเหลือ 923 ล้านบาทในปี 2020

โดยรวมแล้วรายได้จากธุรกิจทั้งสามส่วนของ BTS Group Holdings ลดลงจาก 37,169 ล้านบาทในปี 2019 เหลือ 34,938 ล้านบาทในปี 2020 และทำกำไรได้ 4,576 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2019 ที่ทำกำไรได้ 8,162 ล้านบาท

เมื่อดูจากตัวเลขข้างต้นแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นคือทำไมจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงเกือบครึ่ง ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจ Move ของ BTS เลย เพราะมีการรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู รายได้จากการติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว และรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งรายได้ในส่วนนี้มีมากถึง 5,335 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตถึง 42.2%

ในด้านธุรกิจ Mix เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง เพราะโควิด-19 กระทบต่อสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้า สื่อโฆษณากลางแจ้ง และสื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน ทั้งจากการที่รถไฟฟ้า BTS มีจำนวนผู้โดยสารลดลง และการที่คนไม่เดินทางออกนอกบ้าน บริษัทต่างๆ จึงอาจเลือกไม่ลงโฆษณาในสื่อเหล่านี้ แต่หันไปลงโฆษณาในช่องทางอื่นๆ แทน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้ลดลงเช่นกัน จากการลดเม็ดเงินสื่อโฆษณา และการตลาดออนไลน์

ส่วนในด้านธุรกิจ Match ผลกระทบที่ทำให้รายได้ลดลงส่วนใหญ่มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อโรงแรมในเครือยู ซิตี้ ที่ต้องปิดให้บริการ แม้ในช่วงหลังจะกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว แต่ก็ทำให้อัตราเข้าพัก รายได้ และกำไร ลดลงเช่นกัน

ภาพจาก Shutterstock

สรุป

แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมารถไฟฟ้า BTS จะมีผู้โดยสารลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด แต่กลับไม่ได้รับผลกระทบจากโดยตรงจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง เพราะมีรายได้ในส่วนอื่นๆ เข้ามาเสริม

แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เป็นธุรกิจในส่วนอื่นๆ เช่น การโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS รวมถึงสื่อโฆษณานอกบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง หรือการเดินทางออกนอกบ้านของคนที่ลดลง ซึ่งก็น่าจับตามมองว่าในปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่อจำนวนผู้โดยสาร และรายได้ของรถไฟฟ้า BTS ในปีนี้

ที่มาของข้อมูล – BTS Group (1), (2), (3)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา