รุกอาเซียนต่อเนื่อง BTMU ทุ่ม 39,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร Danamon ที่อินโดนีเซีย

เมื่อเศรษฐกิจในประเทศไม่เวิร์ค “ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” หรือ BTMU จึงหันมาบุกตลาดนอกประเทศ และเน้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเศษ ล่าสุดเข้าถือหุ้นใหญ่หนึ่งในธนาคารท็อป 5 ของอินโดนีเซียแล้ว

ภาพโดย By Rebirth10 (Own work) [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons

ลุยอาเซียนช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรายได้

ก่อนหน้านี้กลุ่มธนาคารจากญี่ปุ่นอย่าง BTMU มีการมองตลาดต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว ไล่ตั้งแต่การเข้าไปลงทุนกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท) ในสถานบันการเงิน Morgan Stanley ที่ประสบปัญหาวิกฤติโลกทางการเงินเมื่อปี 2551 จากนั้นก็เริ่มมองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติม

ไล่ตั้งแต่การลงทุนในธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศเวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงเข้าซื้อกิจการ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ของประเทศไทย เมื่อปี 2556 ด้วย และเมื่อเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวนัก ทำให้ทางธนาคารตัดสินใจบุกภูมิภาคนี้อีกขั้น ด้วยการเจรจาเข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร Danamon ในประเทศอินโดนีเซียเพิ่ม

สำหรับการเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ BTMU ได้เจรจากับทาง “กลุ่มเทมาเส็ก” อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ ผ่านข้อเสนอกว่า 1.33 แสนล้านเยน (ราว 38,455 ล้านบาท) เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่จำนวน 20% แทน จากนั้นจำนวนหุ้นจะขยับขึ้นเป็น 40% ในเดือนก.ย. 2561 ตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นธุรกิจในประเทศเกิน 40%

นอกจากเหตุผลเรื่องต้องการบุกนอกประเทศของ BTMU ทางกลุ่มยังมองว่า Danamon เป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรกของอินโดนีเซีย และเชี่ยวชาญเรื่องสินเชื่อรถยนต์ กับธุรกิจ รวมถึงตัวอินโดนีเซียเองก็มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียใต้ถึง 260 ล้านคน และมีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวถึง 5% ในปีก่อนอีกด้วย

ขณะเดียวกันการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้กลุ่ม BTMU มีรายได้มาจากธุรกิจในต่างประเทศ 50% เมื่อเทียบกับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และถ้าเทียบกับปีก่อนรายได้จากต่างประเทศจะอยู่ที่ 40% แสดงให้เห็นถึงความต้องการลดความเสี่ยงหากเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน

อ้างอิง // The Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา