กระแส Sneaker ในประเทศไทย และทั่วโลกมาแรงจริงๆ ทำเอาทั้งแบรนด์อุปกรณ์กีฬา และแฟชั่น Hi-End ส่งสินค้าประเภทนี้มาจำหน่ายกันเต็มไปหมด และล่าสุดลามมาถึงผู้ผลิตรองเท้านักเรียน Breaker ที่ขึ้นไลน์ผลิตใหม่ เพื่อเจาะตลาดนี้บ้าง
ต่อยอดจากรองเท้ากีฬา สู่สนามแฟชั่น
หนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนคงคุ้นเคยกับสโลแกน “สั่งได้ดั่งใจ” ของแบรนด์รองเท้านักเรียน Breaker กันบ้าง และจากความแข็งแกร่งของแบรนด์นี้เอง ทำให้เมื่อ 6 ปีก่อน ผู้ผลิตรองเท้านักเรียนรายนี้ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่โลกรองเท้ากีฬา โดยเริ่มต้นที่ฟุตซอลก่อน เพราะรูปแบบหนีจากรองเท้านักเรียนนัก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปด้วยดี
สมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย กรรมการผู้บริหาร บริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตสแวร์ จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรองเท้า Breaker เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ตัวรองเท้าฟุตซอลของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งในประเทศไทย และในระดับอาเซียน จนภาพจำของแบรนด์ไม่ได้เป็นแค่คนทำรองเท้านักเรียนอีกต่อไป ดังนั้นการฉีกตลาดไปทำรองเท้าชนิดอื่นน่าจะเริ่มง่ายขึ้น
และเมื่อปีก่อนบริษัทได้ทดลองทำตลาด Sneaker หรือรองเท้าผ้าใบแฟชั่น ผ่านการร่วมออกแบบกับ “โจอี้ บอย” ซึ่งผลตอบรับ่ค่อนข้างดี จึงตัดสินใจเดินไลน์ผลิตรองเท้าผ้าใบแฟชั่นเต็มรูปแบบ โดยใช้แบรนด์ Breaker และมีรุ่นแรกชื่อ Hornbill ราคา 495 บาท และภายในปีนี้จะมีอีก 5 รุ่นออกวางจำหน่ายเพิ่ม
เดินเกมออนไลน์ ไม่ง้อหน้าร้านดั้งเดิม
“ตัวรองเท้าผ้าใบแฟชั่นทาง Breaker คงไม่ได้หวังอะไรมากในปีแรกที่จำหน่าย อย่างรุ่น Hornbill ขอแค่ 5,000 คู่ก็ดีแล้ว ยิ่งเราวางราคาไว้ 500-1,000 บาท ก็คงไม่ได้ทำรายได้เยอะ หรือแค่ 10 ล้านบาทเมื่อครบรอบปีที่จำหน่าย ที่สำคัญการจำหน่ายทั้งหมดเราทำผ่านออนไลน์ ไม่ได้วางรองเท้าผ้าใบแฟชั่นในร้านคู่ค้าดั้งเดิม หรือ Modern Trade ต่างๆ”
อย่างไรก็ตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของ Breaker นั้นจะเดินในรูปแบบ Chat Commerce หรือส่งข้อความมาใน Facebook, ทำการโอนเงิน และทางบริษัทจะส่งสินค้าให้ตามที่อยู่ แต่ปัจจุบันได้ลงทุนกว่า 10 ล้านบาทในการพัฒนาระบบหลังบ้าน เพื่อให้ขายแบบ Ecommerce ผ่านเว็บไซต์หลักได้เต็มรูปแบบภายในปีนี้
ตลาดรองเท้านักเรียนนิ่งสนิท แถมถูกควบคุม
สำหรับกลุ่ม S.C.S. ปัจจุบันทำตลาดรองเท้านักเรียนมานาน ปัจจุบันถืออยู่ 3 แบรนด์หลักคือ รองเท้าผ้าใบ Breaker, รองเท้านักเรียนหญิง Pop Teen และ Catcha แต่ด้วยเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้นักเรียนราว 15 ล้านคนลดลงเช่นกัน และด้วยรองเท้านักเรียนเป็นสินค้ากึ่งควบคุมราคา ตลาดนี้จึงมีมูลค่าเพียง 5,000 ล้านบา และเติบโตแค่ 5%
สรุป
แม้ Breaker จะมีส่วยแบ่งในตลาดรองเท้าผ้าใบถึง 30% แถม Pop Teen กับ Catcha ก็เป็นเบอร์หนึ่งกับสองในรองเท้านักเรียนหญิง แต่การกระโดดออกมาครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ว่าอยู่เฉยๆ คงไม่มีอะไรดีแน่ และถ้าไทยไม่มีรองเท้านักเรียนแล้วจะทำอย่างไรต่อ โดยส่วนตัวเชื่อว่าการออกแบบรองเท้าในรูปแบบนี้น่าจะถูกใจหลายๆ คน และไม่ก็อปปี้ดีไซน์รองเท้าอินเทอร์แบรนด์เหมือนกับคู่แข่งในตลาดที่ทำอยู่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา