ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “แบรนด์ในยุคใหม่” ต้องกล้าแสดงจุดยืนทางการเมือง?

แบรนด์ กับการแสดงออกจุดยืนในเรื่องต่างๆ นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน และแยกไม่ออกมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคที่เกิดการเรียกร้องทั้งในเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม หรือแม้แต่กระทั่งการแสดงออกเรื่องการเมือง กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ

เมื่อประเด็นทางสังคมที่กลายเป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ แบรนด์ต่างๆ จึงถูกกดดันให้ออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน และไม่นิ่งเฉยกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าการแสดงจุดยืนในทุกๆ เรื่อง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ถึงเวลาที่แบรนด์ในยุคใหม่ ต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง หรือประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่?

พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เมื่อสิทธิอยู่คู่กับไลฟ์สไตล์

ความจริงแล้วกระแสการเรียกร้องให้แบรนด์แสดงจุดยืนทางสังคมเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมาอย่างยาวนานในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศระหว่าง ผู้ชาย ผู้หญิง และกลุ่ม LGBTQ ที่ทุกๆ เพศ สมควรได้รับการปฎิบัติกันอย่างเท่าเทียม และได้รับการตัดสินด้วยความสามารถ โดยไม่ได้ใช้เพศซึ่งเป็นลักษณะภายนอกมาเป็นตัวตัดสิน

รวมถึงประเด็นเรื่องสีผิว และรูปร่างที่แตกต่างกัน ก็มีความงามในแบบของตัวเอง แบรนด์ในยุคเก่าที่เลือกนางแบบ นายแบบ มาสวมใส่เสื้อผ้าของตัวเอง เฉพาะคนที่มีรูปร่างดี ผอม ขาว ถูกกดดันให้เลือกนางแบบที่สะท้อนความงามที่สมจริง ที่ไม่ใช่ความงามตามอดุมคติแบบเดิม เพราะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกๆ คน มีความงามในแบบของตัวเอง ความมั่นใจในการสวมใส่เสื้อผ้าจึงควรเกิดจากการเห็นนางแบบที่มีรูปร่างเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ใช่คนที่รูปร่างดี หุ่นนางแบบเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่แบรนด์เครื่องสำอางในยุคใหม่ ได้รับความคาดหวังจากผู้บริโภคว่า ต้องไม่มีการทดลองกับสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แล้วยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน การเรียกร้องเรื่องการเมือง ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการให้แบรนด์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวเอง แสดงออกจุดยืนด้านการเมือง

หากลองสังเกตภาพข่าวจากช่องทางต่างๆ จะพบว่าการแสดงออกทางการเมืองทั้งใน Social Media และการชุมนุมทั้งในพื้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และการชุมนุมในสถานที่สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา ผู้หญิง และวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ คือคนกลุ่มสำคัญ ที่ออกมาแสดงพลัง ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง จึงควรจับตามอง

ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการเก็บรวบรวมผลสำรวจ และพบว่าอายุของผู้ที่มาชุมนุมส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มเจน Y ที่เกิดระหว่างปี 2523-2540 มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มคนเจน Z ที่เกิดหลังปี 2540 เป็นต้นไป

ผลสำรวจพบผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องการให้แบรนด์แสดงจุดยืนทางการเมือง

แม้จะยังไม่มีผลสำรวจว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองของแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย จะมีผลดี หรือผลเสียอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยมีการทำการสำรวจมุมมองที่ผู้บริโภคมีต่อการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมืองของแบรนด์ จากผู้บริโภคชาวอเมริกัน 1,000 คน พบว่า

ผลการสำรวจพบว่า 66% ของผู้บริโภคต้องการให้แบรนด์แสดงจุดยืนทางการเมืองและปัญหาสังคม โดยที่ 58% ต้องการให้แบรนด์แสดงจุดผ่านโซเชียลมีเดียที่เป็นช่องทางการสื่อสารหลักระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และยังพบว่าการที่แบรนด์ออกมาแสดงจุดยืนด้านสังคมและการเมืองนั้นส่งผลดีต่อความรู้สึกของผู้บริโภคโดยภาพรวม ซึ่งส่งผลต่อความประทับใจและ engagement ที่มีต่อแบรนด์ด้วย

ส่วนในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการศึกษาความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้หญิง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะกลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญของแบรนด์ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันคนกลุ่มนี้อาจยังเป็นนักเรียน นักศึกษา อายุน้อย มีกำลังซื้อที่ไม่มาก แต่ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น และอาจกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคต

หลายแบรนด์แสดงจุดยืนทางการเมือง เสียงคนรุ่นใหม่มีค่า

แม้ว่าปัจจุบันการแสดงจุดยืนทางการเมืองจะดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ ที่หลายแบรนด์ยังต้องชั่งน้ำหนักว่าจะนิ่งเฉย หรือออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วการแสดงจุดยืนในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแบรนด์ในต่างประเทศเลย

อย่าง Nike ที่ออกแคมเปญ Don’t Do It เพื่อแสดงจุดยืนถึงสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับ George Floyd ชายผิวสีเชื้อสาย African American จนเสียชีวิต

 

หลังจากนั้นไม่นาน Adidas แบรนด์คู่แข่งของ Nike ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนการเหยียดสีผิว ในกรณีของ George Floyd ผ่านทาง Instagram โดยโพสต์ภาพที่มีการขีดคำว่า Racism ทิ้งไป

นอกจากการแสดงจุดยืนถึงประเด็นของสังคมที่กำลังอยู่ในกระแส ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมากแล้ว แบรนด์ใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาหลายราย ต่างออกแคมเปญที่เชิญชวนให้ชาวอเมริกัน ออกไปใช้สิทธิของตัวเอง ในการเลือกตั้ง ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้ง Lyft บริการ Carpool ที่ให้โค้ดส่วนลดการเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง, Starbucks ที่ให้สิทธิกับพนักงานสามารถเรียกรถของ Lyft ไปยังหน่วยเลือกตั้งฟรี, Facebook ที่เพิ่มฟีเจอร์แจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา ไปลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้ง

ไม่ใช่แค่แบรนด์เท่านั้นที่ออกมาแสดงจุดยืน แต่ศิลปินหลายๆ คน ใช้ความสถานะความเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน รวมถึงแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ชอบ ไม่ชอบ และสนับสนุนผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใด

Taylor Swift เป็นตัวอย่างของคนดังที่ชัดเจนที่สุด ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเธอได้โพสต์ภาพ ประกาศสนับสนุน Joe Biden เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา

รวมถึงก่อนหน้านี้เธอเคยวิพากษ์วิจารณ์ Donald Trump บน Twitter ของเธอ ถึงประเด็นการเหยียดสีผิว และการใช้ความรุนแรง และเธอยังบอกด้วยว่าจะใช้กระบวนการเลือกตั้งโหวต Donald Trump ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้

View this post on Instagram

#IVOTED for @joebiden and @kamalaharris. I dropped my ballot off, and I did it early ?? I voted for them because right now this country is more divided than ever. Right now, a few men in power are deciding what women can and can’t do with their own bodies. Our current President has decided that racism is a non-issue. He has repeatedly and publicly ignored science… too many people have died. ⠀ I urge you to really consider who is going to be most affected by this election if we stay on the track we’re on right now… your daughters, the LGBTQ+ community, our Black brothers and sisters, the elderly with health conditions, and your future kids and grandkids (who will be tasked with saving a planet that our leadership refuses to believe is hurting). ⠀ ⠀ This whole thing isn’t about one candidate or one single issue, it’s about the future of this country and of the world. Vote for equal human rights, for love, and for decency. ⠀ ❤️?⠀ ⠀ ⠀ PS – It’s not funny to vote for Kanye. I don’t know how else to say it. Please be responsible ??

A post shared by Jennifer Aniston (@jenniferaniston) on

ส่วน Jennifer Aniston นักแสดงหญิงชื่อดัง ก็ได้โพสต์ภาพแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าเธอได้ลงคะแนนให้กับ Joe Biden และ Kamala Harris พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ไม่ใช่เรื่องตลกเลยที่จะลงคะแนนให้กับ Kanye West”

แบรนด์แสดงจุดยืน คือการซื้อใจลูกค้า ผู้หญิง และคนรุ่นใหม่

ส่วนในกรณีของประเทศไทย แบรนด์ที่ออกมาแสดงจุดยืนทั้งต่อเรื่องการเมือง และต่อประเด็นต่างๆ แม้จะยังมีไม่มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะแบรนด์เครื่องสำอางอย่าง Covermark ได้ทดลองส่งรองพื้นของตัวเองให้กับทราย เจริญปุระ เพื่อทดลองว่ารองพื้นมีความติดแน่น คงทนในสถานการณ์การชุมนุมหรือไม่

ส่วน Lilybyred ก็ได้แสดงจุดยืนด้วยการส่งน้ำดื่มไปสนับสนุนในช่วงการชุมนุมวันที่ 25 ตุลาคม บริเวณแยกราชประสงค์ด้วยเช่นเดียวกัน

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าภาพที่เราเห็นจากการชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิง เป็นกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แบรนด์เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงามหลายๆ แบรนด์ จะออกมาแสดงจุดยืนกับสถานการณ์ในครั้งนี้ เพราะอย่าลืมว่า คนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้หญิง จะกลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญของแบรนด์ และจะมีกำลังซื้อที่มากขึ้นในอนาคต การออกมาแสดงจุดยืนของแบรนด์ จึงไม่ใช่การเลือกข้าง หากแต่เป็นการ ซื้อใจ กลุ่มคนที่จะกลายเป็นฐานลูกค้าของแบรนด์ในอนาคต

ที่มา – Sproutsocial, Mashmable

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา