ผู้นำปี 2021 ในมุมมอง “ธนา เธียรอัจฉริยะ”

ไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติ หรือระหว่างวิกฤต “ผู้นำ” ล้วนเป็นส่วนสำคัญขององค์กร แต่การเปลี่ยนแปลงมากมาย และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันพร้อมเกิดตลอดเวลา ดังนั้นลองมาฟังมุมมองผู้นำในปี 2021 ของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” กัน

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ความหมายของผู้นำเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคสมัย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้นำที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยความหมายล่าสุดของ “ผู้นำ” หมายถึงการจูงใจให้คนทำตาม และมีความมั่นใจที่จะเดินไปด้วยกัน ถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

“เราไม่สามารถเข้าใจคำว่า “ผู้นำ” เหมือนอดีตได้ เช่นผู้นำในยุค 80s-90s ที่เขาเน้นเรื่องทำธุรกิจ และเติบโตอย่างน้อย 10% ทุกปี ที่สำคัญคือ It is just business nothing personal ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันทำให้ธุรกิจในยุคก่อนอยู่รอด แต่ถ้านำบริบทนี้มาใช้กับผู้นำในปัจจุบัน มันก็อาจไม่ถูกต้อง” ธนา กล่าว

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ยิ่งตอนนี้โลกอยู่ในยุค VUCA หรือ Volatility (เปลี่ยนแปลง), Uncertainly (ไม่แน่นอน), Complexity (ซับซ้อน) และ Ambiguity (คลุมเครือ) การจะวางตัวให้อยู่รอดแบบกลางๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้นการพร้อมปรับตัว, ลบชุดความคิดดั้งเดิมออกไป และเปิดใจให้กับสิ่งใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้นำในยุคนี้

Winter Olympic ยากกว่า SEA Games

“ถ้าให้เปรียบผู้นำเป็นโค้ชกีฬา ตอนนี้ก็คงยากพอสมควร เพราะเหมือนเรากำลังแข่งในกีฬา Winter Olympic ที่คนไทยไม่ถนัด และไม่คุ้นเคย ต่างกับก่อนหน้านี้ที่เปรียบเหมือน SEA Games ที่เราพอสู้ และอยู่รอดได้ เพราะตอนนี้มีทั้งโรคระบาด รวมถึงองค์กรใขนาดหญ่ และองค์กรต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นท้องถิ่น”

millennial
ภาพ shutterstock

นอกจากวิกฤตภายนอกแล้ว ภายในองค์กรที่ปัจจุบันมีพนักงาน Generation Y กว่า 70% ขององค์กร ทำให้การใช้มุมมองผู้นำยุค 80s-90s ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับองค์กร รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้นำก็ควรต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน

“เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อยากได้ผู้นำที่ดูปลอดภัย และมีความเสียสละ ดังนั้นถ้าผู้นำรุ่นเก่าไม่ศึกษาการเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่เหมาะสมนัก และการจะมานั่งจับผิด แทนที่จะเป็นคนคอยสนับสนุนให้พนักงาน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานดีๆ พนักงานก็คงไม่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร”

Sigve Brekke คือผู้นำที่น่าสนใจ

ส่วนตัวอย่างที่น่าสนใจของผู้นำปี 2021 อยากให้ย้อนไปช่วง Sigve Brekke ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Telnor Group และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บริษัทเติบโตจากวิกฤต ผ่านการใช้หลักผู้นำ 7 ข้อคือ

  • ผู้นำคือนักเล่าเรื่อง หรือการหยิบเอาเรื่องเล็ก-ใหญ่มาเล่าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกคนรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
  • ใช้กลยุทธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้พนักงานทุกระดับสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทุกอย่างที่ทำต้องวัดผลได้ เพราะหากวัดผลได้ ทุกคนจะเข้าใจถึงความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ
  • เปิดเผยอย่างซื่อสัตย์ โดยเฉพาะรายละเอียด และสถานะของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
  • ทำงานด้วยเท้า หรือการเดินไปคุยกับพนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกคนแทนที่จะนั่งเฉยๆ อยู่ที่โต๊ะ
  • เฉลิมฉลองทุกชัยชนะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในองค์กร เพราะขนาดความสำเร็จเล็กๆ ก็มีความสำคัญ
  • ทุกคนต้องเท่าเทียม เพื่อลดระดับความห่าง และชี้ให้เห็นว่าทุกคนสำคัญ

“ถ้าให้ถามว่า Sigve วัดผลเรื่องความสำเร็จในการเป็นผู้นำอย่างไร เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ทุกคนเลือกที่จะไม่ขึ้นลิฟท์กับเขา แม้เขาจะไม่ได้ห้าม แต่หลังจากการเดินหน้ากลยุทธ์นี้ และใกล้ชิดพนักงานมากขึ้น ทุกคนก็พร้อมที่จะขึ้นลิฟท์กับเขา และเชื่อมั่นในตัวผู้นำเพื่อพาองค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน”

ผู้นำต้องกล้าที่จะยอมรับผิด

อย่างไรก็ตามการนำทักษะผู้นำของ Sigve Brekke มาปรับใช้ในปี 2021 สามารถอธิบายได้เป็น 4 เรื่องคือ ต้องยอมรู้ว่าตัวเองไม่รู้, สามารถเข้าไปอยู่ในใจของทุกคน, พร้อมเสียสละ และกล้าหาญ เพราะถ้าสามารถทำได้ทั้ง 4 เรื่องนี้ การจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี และพร้อมให้ทุกคนทำงานไปด้วยกันก็จะเกิดขึ้น

Leadership
ภาพ pexles

“ความกล้าหาญ และเสียสละนั้นไม่ง่ายเลยถ้าเรายังยึดติดกับความเป็นผู้นำรูปแบบเดิม เช่นการขอโทษอย่างจริงใจที่บางองค์กรใช้คำว่า “ขอโทษ… แต่…” หรือการออกมายอมรับผิดแทนลูกน้องของหัวหน้า ซึ่งหากผู้นำยุคใหม่ทำได้การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ และสามารถเข้าไปอยู่ในใจของทุกคนก็จะเกิดขึ้น”

สุดท้ายการเป็นผู้นำในปี 2021 ต้องมาคู่กับหลักการ First rule of leadership: everything is your fault. ที่หมายถึงการยอมรับผิดแทนทุกคน ซึ่งตอนนี้ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงโลก แต่ถ้าผู้นำไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง โลกก็คงไม่สามารถเปลี่ยนได้

สรุป

ผู้นำในปี 2021 อาจใช้หลักการที่มีอยู่แล้วในอดีตมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องเร็ว และพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่เช่นกัน ดังนั้นผู้อ่านท่านใดที่จะนำหลักการของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ไปใช้ ก็อย่าลืมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา