ไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติ หรือระหว่างวิกฤต “ผู้นำ” ล้วนเป็นส่วนสำคัญขององค์กร แต่การเปลี่ยนแปลงมากมาย และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันพร้อมเกิดตลอดเวลา ดังนั้นลองมาฟังมุมมองผู้นำในปี 2021 ของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” กัน
ผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ความหมายของผู้นำเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคสมัย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้นำที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยความหมายล่าสุดของ “ผู้นำ” หมายถึงการจูงใจให้คนทำตาม และมีความมั่นใจที่จะเดินไปด้วยกัน ถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
“เราไม่สามารถเข้าใจคำว่า “ผู้นำ” เหมือนอดีตได้ เช่นผู้นำในยุค 80s-90s ที่เขาเน้นเรื่องทำธุรกิจ และเติบโตอย่างน้อย 10% ทุกปี ที่สำคัญคือ It is just business nothing personal ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันทำให้ธุรกิจในยุคก่อนอยู่รอด แต่ถ้านำบริบทนี้มาใช้กับผู้นำในปัจจุบัน มันก็อาจไม่ถูกต้อง” ธนา กล่าว
ยิ่งตอนนี้โลกอยู่ในยุค VUCA หรือ Volatility (เปลี่ยนแปลง), Uncertainly (ไม่แน่นอน), Complexity (ซับซ้อน) และ Ambiguity (คลุมเครือ) การจะวางตัวให้อยู่รอดแบบกลางๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้นการพร้อมปรับตัว, ลบชุดความคิดดั้งเดิมออกไป และเปิดใจให้กับสิ่งใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้นำในยุคนี้
Winter Olympic ยากกว่า SEA Games
“ถ้าให้เปรียบผู้นำเป็นโค้ชกีฬา ตอนนี้ก็คงยากพอสมควร เพราะเหมือนเรากำลังแข่งในกีฬา Winter Olympic ที่คนไทยไม่ถนัด และไม่คุ้นเคย ต่างกับก่อนหน้านี้ที่เปรียบเหมือน SEA Games ที่เราพอสู้ และอยู่รอดได้ เพราะตอนนี้มีทั้งโรคระบาด รวมถึงองค์กรใขนาดหญ่ และองค์กรต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นท้องถิ่น”
นอกจากวิกฤตภายนอกแล้ว ภายในองค์กรที่ปัจจุบันมีพนักงาน Generation Y กว่า 70% ขององค์กร ทำให้การใช้มุมมองผู้นำยุค 80s-90s ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับองค์กร รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้นำก็ควรต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน
“เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อยากได้ผู้นำที่ดูปลอดภัย และมีความเสียสละ ดังนั้นถ้าผู้นำรุ่นเก่าไม่ศึกษาการเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่เหมาะสมนัก และการจะมานั่งจับผิด แทนที่จะเป็นคนคอยสนับสนุนให้พนักงาน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานดีๆ พนักงานก็คงไม่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร”
Sigve Brekke คือผู้นำที่น่าสนใจ
ส่วนตัวอย่างที่น่าสนใจของผู้นำปี 2021 อยากให้ย้อนไปช่วง Sigve Brekke ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Telnor Group และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บริษัทเติบโตจากวิกฤต ผ่านการใช้หลักผู้นำ 7 ข้อคือ
- ผู้นำคือนักเล่าเรื่อง หรือการหยิบเอาเรื่องเล็ก-ใหญ่มาเล่าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกคนรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
- ใช้กลยุทธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้พนักงานทุกระดับสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ
- ทุกอย่างที่ทำต้องวัดผลได้ เพราะหากวัดผลได้ ทุกคนจะเข้าใจถึงความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ
- เปิดเผยอย่างซื่อสัตย์ โดยเฉพาะรายละเอียด และสถานะของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
- ทำงานด้วยเท้า หรือการเดินไปคุยกับพนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกคนแทนที่จะนั่งเฉยๆ อยู่ที่โต๊ะ
- เฉลิมฉลองทุกชัยชนะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในองค์กร เพราะขนาดความสำเร็จเล็กๆ ก็มีความสำคัญ
- ทุกคนต้องเท่าเทียม เพื่อลดระดับความห่าง และชี้ให้เห็นว่าทุกคนสำคัญ
“ถ้าให้ถามว่า Sigve วัดผลเรื่องความสำเร็จในการเป็นผู้นำอย่างไร เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ทุกคนเลือกที่จะไม่ขึ้นลิฟท์กับเขา แม้เขาจะไม่ได้ห้าม แต่หลังจากการเดินหน้ากลยุทธ์นี้ และใกล้ชิดพนักงานมากขึ้น ทุกคนก็พร้อมที่จะขึ้นลิฟท์กับเขา และเชื่อมั่นในตัวผู้นำเพื่อพาองค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน”
ผู้นำต้องกล้าที่จะยอมรับผิด
อย่างไรก็ตามการนำทักษะผู้นำของ Sigve Brekke มาปรับใช้ในปี 2021 สามารถอธิบายได้เป็น 4 เรื่องคือ ต้องยอมรู้ว่าตัวเองไม่รู้, สามารถเข้าไปอยู่ในใจของทุกคน, พร้อมเสียสละ และกล้าหาญ เพราะถ้าสามารถทำได้ทั้ง 4 เรื่องนี้ การจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี และพร้อมให้ทุกคนทำงานไปด้วยกันก็จะเกิดขึ้น
“ความกล้าหาญ และเสียสละนั้นไม่ง่ายเลยถ้าเรายังยึดติดกับความเป็นผู้นำรูปแบบเดิม เช่นการขอโทษอย่างจริงใจที่บางองค์กรใช้คำว่า “ขอโทษ… แต่…” หรือการออกมายอมรับผิดแทนลูกน้องของหัวหน้า ซึ่งหากผู้นำยุคใหม่ทำได้การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ และสามารถเข้าไปอยู่ในใจของทุกคนก็จะเกิดขึ้น”
สุดท้ายการเป็นผู้นำในปี 2021 ต้องมาคู่กับหลักการ First rule of leadership: everything is your fault. ที่หมายถึงการยอมรับผิดแทนทุกคน ซึ่งตอนนี้ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงโลก แต่ถ้าผู้นำไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง โลกก็คงไม่สามารถเปลี่ยนได้
สรุป
ผู้นำในปี 2021 อาจใช้หลักการที่มีอยู่แล้วในอดีตมาประยุกต์ใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องเร็ว และพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่เช่นกัน ดังนั้นผู้อ่านท่านใดที่จะนำหลักการของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ไปใช้ ก็อย่าลืมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา