การรักษาสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นนโยบายขององค์กรต่างๆ มากขึ้น เพราะจะปล่อยให้มีมลพิษเพิ่มขึ้นก็คงไม่ดีนัก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Net Zero หรือการไม่ปล่อยมลพิษใดๆ ออกมา และล่าสุดบริษัทน้ำมัน BP ก็เดินหน้าแผนนี้แล้ว
Net Zero กับการปลอดมลพิษใดๆ
ถ้าว่ากันตามความหมาย Net Zero คือการไม่ปล่อยมลพิษใดๆ ออกมา จะหมายถึงการทำธุรกิจ, งานบริการ หรือแม้กระทั่งอาคารสำนักงาน และที่พักอาศัยก็ได้ เพราะการใช้ชีวิตทุกวันของผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ ก็มักจะปล่อยมลพิษออกมาโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว เช่นการเผาไหม้ของการขับขี่รถยนต์ หรือการใช้เครื่องปรับอากาศจนเกินจำเป็น
ยิ่งตอนนี้โลกได้เข้าสู่ภาวะเรือนกระจกมากขึ้น ทำให้การปล่อยมลพิษต่างๆ เช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และอื่นๆ ออกมาโดยไม่ควบคุม มันก็ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้นไปอีก และจะให้มาแก้ไขภายหลังก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงเริ่มเดินหน้าแผน Net Zero
หากนิยามตามการปล่อยมลพิษโดยองค์กรตาม GHG Protocol Corporate Standard จะพบว่า การปล่อยมลพิษโดยองค์กรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ไล่ตั้งแต่มลพิษที่มาจากแหล่งที่มาขององค์กร, มลพิษที่ไม่ได้มาจากแหล่งที่มาขององค์กร แต่องค์กรนั้นทำให้เกิดขึ้น และมลพิษที่มาจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขององค์กรโดยผู้บริโภค
BP และการเดินแผน Net Zero
หากดูตามคำนิยามดังกล่าวจะเห็นว่า มลพิษที่เกิดจากองค์กรเป็นผู้ทำตั้งแต่แรกก็น่าจะควบคุมได้ไม่ยากนัก แต่มลพิษที่มาจากการใช้งานของผู้โภคนั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ซึ่งล่าสุด BP หนึ่งในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน และก๊าซยักษ์ใหญ่ของโลก ก็เตรียมเดินหน้าแผน Net Zero ให้สำเร็จภายในปี 2593 ถือเป็นการเขย่าธุรกิจน้ำมัน และก๊าซครั้งใหญ่
เนื่องจากธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ แทบจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยมลพิษออกมามากที่สุด ไล่ตั้งแต่การปล่อยมลพิษจากการดำเนินงาน, การปล่อยมลพิษจากการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อยู่ในธรรมชาติ และการปล่อยมลพิษของผู้บริโภคที่ใช้เชื้อเพลิงของธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ เรียกว่าท้าทายอย่างมากสำหรับการทำ Net Zero ของ BP
Bernard Looney ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BP ชี้แจงว่า BP มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินงาน, การเผาไหม้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จำหน่าย และอื่นๆ รวมถึงจะลงทุนมากขึ้นในกลุ่มพลังงานทางเลือก พร้อมกับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือ BP จะเลิกขายน้ำมัน และก๊าซ?
แม้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนเดินหน้า Net Zero ของ BP เพราะตอนนี้มีเพียงแนวคิด และแผนระยะสั้น รวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมจะออกมาในเดือนก.ย. 2563 แต่ BP ก็เผยออกมาว่า ต้องการนำก๊าซเรือนกระจกออกจากการเผาไหม้ของน้ำมัน รวมถึงก๊าซที่จำหน่ายอยู่ตอนนี้ และอาจเป็นสัญญาณที่ BP จะไม่ออกจากธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ
ปัจจุบัน BP ผลิตก๊าซธรรมชาติราว 2.43 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน ในปี 2561 และผลิตน้ำมัน 2.64 ล้านบาเรล/วัน ในปี 2562 แต่เพื่อเดินหน้าแผน Net Zero ได้ดีขึ้น BP ก็เตรียมลดการลงทุนในการผลิตน้ำมัน และก๊าซ แต่จะไปเพิ่มในพลังงานทางเลือก และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ปล่อยมลพิษ
จากแผนขยับตัวของ BP ครั้งใหญ่ ทำให้มีความเห็นของนักลงทุนออกมาสองทางที่แตกต่างกัน นั่นคือเห็นด้วยไปเลย เพราะเป็นการพลิกธุรกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือ กับไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทำลายธุรกิจดั้งเดิม และเสี่ยงเกินไปที่จะทำแบบนี้ ส่วนฝั่งนักสิ่งแวดล้อมก็แสดงออกไปสองทิศทางเช่นกัน
ธุรกิจน้ำมัน และก๊าซรายอื่นก็เริ่มขยับ
ขณะเดียวกันธุรกิจน้ำมัน และก๊าซรายอื่นก็เริ่มเดินหน้านโยบาย Net Zero แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Repsol บริษัทจากสเปนที่มีนโยบายไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป ไล่ตั้งแต่มลพิษที่เกิดจากตัวบริษัทเอง จนไปถึงมลพิษที่เกิดจากผู้บริโภคใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย
ส่วน Shell ก็มีแผนลดความรุนแรงของมลพิษที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทลง 20% ภายในปี 2578 และ 50% ในปี 2593 รวมถึง Total จากฝรั่งเศสก็มีแผนลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการดำเนินงานเช่นเดียวกัน เรียกว่าบริษัทน้ำมัน และก๊าซในยุคนี้ต่างให้ความสำคัญกับนโยบาย Net Zero
นอกจากนี้องค์กรในประเทศไทยอย่างกลุ่มปตท. ก็มีแผนเดินหน้านโยบาย Net Zero เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานสะอาดขึ้นมาเพื่อทำตลาดในอนาคต รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ ให้ลดมลพิษลงได้มากกว่าเดิม
สรุป
Net Zero เป็นนโยบายที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ เพราะมันคือการยกระดับให้องค์กรไม่ปล่อยมลพิษ และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวองค์กรเองด้วย ส่วนจะเดินหน้าแบบไหนนั้น ก็คงแล้วแต่ภาคธุรกิจ ซึ่งด้านบนนั้นแสดงให้เห็นตัวอย่างของธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ ที่ Net Zero แล้ว
อ้างอิง // MIT Technology Review, The Verge, GHG Protocol, ประชาชาติธุรกิจ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา