ผู้ว่าธปท.ย้ำเงินบาทแข็งค่ากลางๆ แต่ผู้ประกอบธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงินด้วย

ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติให้ข่าวว่าค่าเงินบาทแข็งค่ากลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในโลก ในขณะที่นักวิเคราะห์หลายค่ายมองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในเอเชีย ทำไมแบงก์ชาติกับนักวิเคราะห์มองต่างกัน Brand Inside นำคำตอบของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาให้อ่านแล้ว

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แบงก์ชาติเปิดสาเหตุเงินบาทแข็งค่าเพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง-ไทยเกินดุลการค้า

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับต้นปี 2019 สาเหตุหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เพราะปัจจัยในประเทศสหรัฐ เช่น การเมือง การปิดตัวของรัฐบาล หรือ Government Shutdown ที่ครั้งนี้ถือว่าปิดรัฐบาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ 

ปัจจัยที่สองเกิดจากภาวะเศรษฐกิจประเทศหลักทั่วโลกยังไม่สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ทำให้บางประเทศมีการขายหุ้นส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน และปัจจัยที่ 3 คือปัจจัยภายนอก เช่น  Trade War Brexit ฯลฯ ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ความผันผวนค่าเงินเกิดจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ และเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในสหรัฐด้านการเมืองทำให้ความมั่นใจต่อเงินดอลลาร์ลดลงไป เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงค่าเงินหลายสกุลจึงแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ

“ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี เราอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีเงินหลายสกุลที่แข็งค่าเร็วกว่าเงินบาทไทย เช่นเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย เงินเรอัลของบราซิล เงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเงิน เงินรูเปียของอินโนนิเซีย ก็เคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกัน”

นอกจากนี้บัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล เพราะการส่งออกสินค้าและบริการเยอะกว่าการนำเข้า (ปี 2561 คาดว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถือว่าเป็นระดับสูง

ผู้ว่าชี้เมื่อบาทแข็งค่าตามกลไกตลาดธุรกิจต้องดูแลตัวเอง

ทั้งนี้จากที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเพราะการปรับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงสิ้นปี 2561 ไม่เป็นจริง เพราะจากต้นปี 2019 ถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลออกจากไทยสุทธิประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% ยังต่ำกว่าธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น FED ที่อยู่ 2.25% อินโดนิเซียที่ 6% ฟิลิปปินส์ที่ 6% เวียดนาม 6.25% และมาเลเซียที่ 3.25%

“ถ้าดูความผันผวนค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของไทยอยู่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคและของประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็ต้องมาช่วยตั้งคำถามและคิดว่าทำไมประเทศอื่นเขาสามารถรองรับความผันผวนหรือทนทานกับความผันผวนของค่าเงินได้ดีกว่าธุรกิจในไทยหรือเศรษฐกิจไทยโดยรวม เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน”

อย่างไรก็ตามเมื่อค่าเงินบาทผันผวนตามปัจจัยจากต่างประเทศอาจจะกระทบกับธุรกิจไทย ดังนั้นผู้ส่งออกและนำเข้าควรวางแผนป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Forward และ Fx Option ทั้งนี้ไทยต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ และส่งผลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ตามมาได้

สรุป

เมื่อค่าเงินบาทเป็นรูปแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) แบงก์ชาติจึงไม่สามารถแทรกแซงค่าเงินได้อย่างออกหน้าออกตา แต่ไม่ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอย่างไรหน้าที่ของภาคธุรกิจคือ บริหารความเสี่ยงค่าเงินด้วยตนเองมากกว่าลุ้นให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา