ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เหตุไม่มีธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธพ. ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่ม ธพ.
กรณี SVB แทบไม่กระทบต่อประเทศไทย
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่ากรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงิน และการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน Venture Capital บริษัท Fintech และ Startup ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากหรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคาร และความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมโดย FDIC
จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลง และราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ
สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มี ธพ. ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธพ. ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่ม ธพ. ที่สำคัญพบว่า ธพ. ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธพ. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และ Venture Capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธพ. ต่อเงินฝากของประชาชน
ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป
อ้างอิง // ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา