นักวิเคราะห์มอง ลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ช่วย แนะเร่งเสริมสภาพคล่องให้ SME

จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี มาฟังเสียงจากนักวิเคราะห์กันว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่ในเวลานี้

bot

คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด ถึงลดก็ช่วยไม่มาก

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC บอกว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ EIC คาดการณ์ไว้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มาตรการทางการเงินไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะช่วยได้ เนื่องจากปัญหาเกิดจากการระบาดของโควิด และการล็อกดาวน์ รายได้ลดลง ความเชื่อมั่นตกต่ำ ทางออกคือต้องเสริมความเชื่อมั่นและชดเชยรายได้

ต่อให้ลดดอกเบี้ย ผลดีส่วนใหญ่ออกมาในรูปลดภาระหนี้ของลูกหนี้ปัจจุบัน ช่วยการปรับโครงสร้างหนี้ ให้เบาลงได้บ้าง แต่ก็ช่วยได้ไม่เยอะ เพราะดอกเบี้ย 0.5% ก็ถือว่าต่ำอยู่แล้ว

แนวทางทางที่ EIC มองต้องใช้นโยบายการคลัง คือ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อชดเชยรายได้ กระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการให้สินเชื่อกับ SME ไปกว่า 27,000 รายเป็นเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับจำนวน SME กว่า 3 ล้านราย หรือที่จดทะเบียนบริษัทกว่า 7 แสนราย ก็ถือว่าน้อยมาก

ภาครัฐต้องช่วยลดความเสี่ยง หนุนการปล่อยสินเชื่อ กระจายสภาพคล่อง

ยรรยง บอกว่า ปัจจุบันมีกลไกของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. แต่วงเงินค้ำประกัน 40% ถือว่ายังน้อยไป และค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ก็ยังสูงไปในสถานการณ์นี้ ซึ่งใช้กลไกปกติไม่ได้ โดยอาจพิจารณาเพิ่มเป็น 50-60% เพื่อให้เม็ดเงินกระจายออกไปเร็วที่สุด ตอนนี้สภาพคล่องของ SME น้อยลงเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบทำ จะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น มีการปิดกิจการมากขึ้น และจะฟื้นตัวในอนาคตได้ช้าและยาก

สำหรับโอกาสในการลดดอกเบี้ย EIC คาดว่ามีโอกาส 30% ที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ เหลือ 0.25% แต่จะไม่ลดลงไปเหลือ 0% แน่นอน เพราะมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่มีโอกาสมากกว่าที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5%

อีกส่วนหนึ่งที่อาจช่วยได้คือ การคงอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู FIDF ไว้ที่ 0.23% จากเดิม 0.46% ซึ่งจะครบกำหนดที่มีการปรับลดแล้ว เชื่อว่าน่าจะขยายเวลาการปรับลดต่อไปหรืออาจลดลงได้อีก เพื่อลดต้นทุนและธนาคารก็สามารถลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

ภาพจาก Pexels

KKP มองควรลด เพราะเศรษฐกิจไปต่อลำบาก

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่กนง. ออกประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี ไม่ลดลงไปกว่านี้ เพราะหากลดอาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ผ่านการที่ปัญหาปัจจุบันมาจากการเกิดโรคระบาด ไม่ได้เกิดจากการไม่บริโภค

และอาจใช้มาตรการที่ตรงจุดกว่า เช่นการพยายามกระจายสภาพคล่องที่ผู้บริโภค หรือบางธุรกิจเข้าไม่ถึง เช่นซอฟต์โลนรูปแบบต่าง ๆ เพราะปัญหาไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะถ้ามันต่ำไปมากกว่านี้ จะเกิดเหตุการณ์ Search for Yield ซึ่งกลายเป็นตลาดการเงินได้ประโยชน์แทน

“แบงค์ชาติพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตลอดในแต่เวฟที่โรค COVID-19 แต่ปัจจุบันมติกนง. เริ่มเสียงแตกแล้ว แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มันอาจรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นคณะกรรมการก็ต้องถกเถียงกันว่า หากลดลง ต้นทุน และประโยชน์ที่ได้มาอะไรมันมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่ากัน ซึ่งผมเองมองว่าควรลดลงมาได้แล้ว”

ทั้งนี้ KKP มองว่าหากดอกเบี้ยนโยบายลดลงจริง ๆ น่าจะเหลือ 0.25% ต่อปี ไม่ไปถึงขนาด 0% หรือติดลบเหมือนกับประเทศในกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินกู้ และอื่น ๆ ลดลงมาด้วย ซึ่งตัวเงินกู้เองอาจช่วยคนกู้เดิมได้ แต่คนกู้ใหม่บางกลุ่มอาจลำบากกว่าเดิม เช่น เมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารอาจลดเพดานความเสี่ยงลงมาด้วย กล่าวคือ หากผู้กู้มีความเสี่ยง 15 จุดในดอกเบี้ยเดิมแล้วยังกู้ได้ แต่เมื่อปรับอัตราดอกเบี้ย ทำให้เพดานความเสี่ยงลดลงมา และบุคคลนั้นจะกู้ไม่ได้ทันที

Bank Of Thailand
ภาพจาก Shutterstock

คงดอกเบี้ยตามสถานการณ์ เอกชนอาจมองว่าช้า

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด บอกว่า โอกาสลดดอกเบี้ยของ ธปท.เพิ่มขึ้นตามเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อ โดยแม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามลักษณะปัญหาเป็นการเฉพาะหลากหลายมาตรการ แต่เป็นไปได้ว่าในสายตาของภาคเอกชนที่เผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ก็อาจจะมองว่า ธปท ดำเนินการช้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่แย่กว่าคาดและประมาณการเศรษฐกิจที่ปรับลดลงมาหลายรอบ

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ในปีนี้จะเห็น ธปท.​ ประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยลงมาที่ 0.25% ทั้งนี้ถ้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังสูง และการกระจายวัคซีนยังใช้เวลา แต่หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวถึงลดลงภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ธปท.ก็น่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.5%

หากมีการปรับลดดอกเบี้ย จะมีผลกับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทั่วไปลดลงในอัตราประมาณ 0.125-0.25% ขึ้นกับประเภทดอกเบี้ย โดยจะลดลงตามในทันทีหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา