สินเชื่อกับดอกเบี้ยกู้เป็นของคู่กัน ซึ่งหลายคนมีเรื่องฉุกเฉิน ต้องไปพึ่งเงินนอกระบบ ภาครัฐเลยออกมาตรการมาให้ประชาชนมีแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย อย่าง Pico Finance และ Nano Finance ดอกเบี้ยให้คิดได้ไม่เกิน 36% ล่าสุด ธปท. เตรียมคุมธุรกิจสินเชื่อจำนำรถ หรือ ธุรกิจที่เอารถเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ
แบงก์ชาติลงพื้นที่เจอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถดอกเบี้ยสูง 65%!!!
ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า สำหรับสินเชื่อที่ใช้รถเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ ที่ผ่านมาเราเจอดอกเบี้ยสูงมาก อย่างรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซด์) คิดอยู่ประมาณ 20-65% ส่วนรถยนต์ดอกเบี้ยอยู่ที่ 20-50%
ก่อนหน้านี้ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือ สินเชื่อจำนำรถ ยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการสินเชื่อเหล่านี้ถูกเอาเปรียบ เช่น สัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรม มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง ไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน คิดดอกเบี้ยสูงกว่ากำหนด ฯลฯ
ดังนั้นแบงก์ชาติจะออกเรื่อง Market Conduct หรือมาตรฐานในการให้บริการธุรกิจนี้ เช่น
- โปร่งใส – เปิดเผยดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม จัดทำสัญญาตารางแสดงภาระหนี้ ใบเสร็จรับเงิน
- แจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนครบกำหนดชำระหนี้ แจ้งเตือนกรณีผิดนัดชำระหนี้ก่อนที่จำดำเนินการบังคับชำระหนี้
- รักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ และมีศูนย์รับจัดการเรื่องร้องเรียน ฯลฯ
ธปท. เตรียมคุมธุรกิจสินเชื่อจำนำรถต้องมีใบอนุญาต-ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 28%
แบงก์ชาติจะออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย. 2561 นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่หว่างการรับฟังความคิดเห็น ที่นี่ ได้ถึงวันที่ 12 ต.ค. 2561
หลังจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ดำเนินการอยู่ ต้องมาขอใบอนุญาต ซึ่งธปท.จะเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ และจะส่งต่อไปที่กระทรวงการคลังในการออกใบอนุญาต โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่ที่ 1,000 รายทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 100 ราย ซึ่งมี 30 รายที่สามารถดำเนินธุรกิจจำนำทะเบียนได้เพราะมีใบอนุญาตทำสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้ว ส่วนประมาณ 17 ราย มีใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนอยู่แล้ว เช่น เงินติดล้อ เมืองไทยลีสซิ่ง ศรีสวัสดิ์ ฯลฯ
โดยเกณฑ์ใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือน พ.ย. นี้จะแบ่ง 1. ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (ให้บริการได้ทั่วประเทศ) ขยายขอบเขตมาจาก Pico Finance มีเงื่อนไขเช่น ให้กู้วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย ห้ามคิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิน 36% ห้ามคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย ฯลฯ
และ 2. ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (ให้บริการได้เฉพาะจังหวัด) ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม รวมค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 28% เมื่อลูกค้าต้องการปิดบัญชีหนี้ทั้งหมด ห้ามคิดค่าธรรมเนียมในการ Prepayment fee หรือค่าธรรมเนียมการชำระล่วงหน้า ฯลฯ
ปัจจุบันสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีคนใช้อยู่เยอะ เห็นได้จากยอดสินเชื่อรวม (สินเชื่อคงค้าง) ในไทยอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท มีฐานผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านราย
สรุป
ที่ผ่านมาธุรกิจลีสซิ่ง (สินเชื่อเช่าซื้อรถ) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ถือว่าอยู่นอกสายตาของหน่วยงานผู้กำกับมานาน แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีว่า ผู้บริโภคจะไม่ถูกเอาเปรียบเหมือนก่อนหน้านี้ ทว่าหลังจากนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรคงต้องรอดู
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา