จุดเปลี่ยนธนาคาร เมื่อค่าธรรมเนียมโอนเงินหดตัว 11% ค่าใช้จ่ายดิจิทัลเพิ่ม แบงก์ต้องปรับตัวอย่างไร?

กลายเป็นจุดเปลี่ยนธนาคาร เมื่อทุกค่ายหันมาฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงิน จ่ายบิล และค่าธรรมเนียมดิจิทัลต่างๆ ซึ่งทำให้รายได้ของธนาคารเปลี่ยนไป ไหนธนาคารต้องลงทุนเรื่องดิจิทัลกันอีก ภาคแบงก์จะต้องทำอย่างไรต่อไป

ภาพจาก Shutterstock

ธปท. ชี้ไตรมาส 2/61 ค่าฟีโอนเงินติดลบ 11.2% ครั้งแรกในไทย

ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ไตรมาส 2/61 เป็นครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ที่ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การโอนเงินอยู่ที่ 5,274 ล้านบาท ติดลบ 11.2% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 6,344 ล้านบาท สาเหตุเพราะคนโยกไปใช้บริการช่องทางดิจิทัลมากขึ้น หลังจากเหล่าธนาคารพาณิชย์หันมาฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินในช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง บางเจ้าให้จ่ายบิลต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ฟรี
“ตอนนี้เราเห็นเทรนด์คนมาใช่ช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง หรือดิจิทัลมากขึ้น อย่าไตรมาส 2/61 ยอดใช้อยู่ที่ 224 ล้านรายการ ขณะที่การโอนเงินผ่านสาขาธนาคารและตู้เอทีเอ็มอยู่ที่ 1.7 ล้านรายการเท่านั้น จะเห็นว่่าสัดส่วนคนที่ใช้ดิจิทัลอยู่ที่ 90% แล้ว ต่อไปเราอาจจะไม่เห็นค่าฟีโอนเงินอาจลดลงอีก”
โดยค่าฟีโอนเงินแม้ว่าจะมีสัดส่วน 10% ของค่าฟีธนาคาร แต่ก็ส่งผลกระทบให้ไตรมาส 2/61 ค่าธรรมเนียมธนาคารชะตัวเติบโตแค่ 1.5% ลดลงจากไตรมาส 1/61 ที่โตถึง 8.2%
ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธนาคารแก้เกมส์ค่าฟีไม่โต เร่งปล่อยสินเชื่อ

เรียกว่าธนาคารต้องเจอปัญหาหลายๆ นอกจากค่าฟีโอนเงินที่กดตัว ค่าฟีจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเรื่อง เกณฑ์กำกับดูแลการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ไหนจะเรื่องค่าฟีหลักทรัพย์ที่ช่วงนี้ตลาดฯ มีความผันผวนคนก็อาจจะซื้อขายหุ้นน้อยลง

ดังนั้นแบงก์ต้องหารายได้ค่าฟี จากธุรกิจใหม่ๆ ต่อไปเราต้องรอดุว่าธนาคารจะนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่แน่นอนว่าต้องหันกลับมาทำธุรกิจหลักคือ การปล่อยสินเชื่อ เพราะปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธนาคารกว่า 70% ยังเป็นรายได้จากดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนที่ 20% อยู่

ซึ่งสอดคล้องกับไตรมาส 2/61 ที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังโตที่ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จะขยายตัวทั้งสินเชื่อรายย่อย อย่าง สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่บ้านก็โต สินเชื่อ SME ก็ขยายตัวดี ทำให้ทั้งปีนี้เรามองว่าธนาคารพาณิชย์ยัง ปล่อยสินเชื่อที่ 4-6% จากปีก่อน ณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทรงตัวในกรอบ 2.93-2.95%

แบงก์กำไรยังดี เพราะขยับตามดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ยังต้องลงทุนดิจิทัล

ตอนนี้ปัจจัยที่อาจจะถ่วงกำไรของแบงก์ คือ การลงทุนด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การ  Transform ใช้ดิจิทัลทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน รวมไปถึงการรักษาความปลอดภันในระบบต่างๆ ตอนนี้ธนาคารก็ลงทุนกันไปเยอะแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ธนาคารก็ต้องลงทุนเรื่องนี้ต่อเนื่อง

ส่วนเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นที่เป็นอยู่ทั่วโลก ก็ทำให้ต้นทุนของธนาคารปรับขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งก็ดีกับธนาคารที่มีสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัว (floating interset rate) เยอะ แต่ธนาคารก็ต้องคำนวนเรื่องความเสี่ยง และต้นทุนดอกเบี้ยให้ดีด้วย

สรุป

ธปท.เผยครั้งแรกในไทยที่ค่าธรรมเนียมการโอนเงินติดลบ 11% ดึงรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์โตช้าลง เคราะห์ซ้ำธนาคารต้องลงทุนเรื่องดิจิทัลเพิ่ม ทำให้ภาคแบงก์ต้องเร่งปรับตัว หันมาปล่อยสินเชื่อและหารายได้ทางอื่นเพิ่ม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา