จบข่าวลือ 7-ELEVEN ไม่ใช่ธนาคาร แต่อนาคตอาจเป็น Banking Agent ตัวแทนให้บริการ

ภาพจาก Shutter Stock

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวลือออกมาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังปรับปรุงเรื่อง Banking Agent โดยอนุญาตให้ CPALL ผู้บริหารร้าน 7-ELEVEN ทำหน้าที่เป็น Banking Agent ได้ แต่ล่าสุดได้มีการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

แถลงเพื่อความเข้าใจ Banking Agent คือ ตัวแทนธนาคาร

สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายสถาบันการเงินของ ธปท. บอกว่า ธปท. ได้ปรับปรุงกฏเกณฑ์ต่างๆ ให้ทันสมัย ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาระสาคัญของกฎเกณฑ์ฉบับใหม่ คือ ให้ความคล่องตัวแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและช่องทางให้บริการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

  1. สาขาของธนาคารพาณิชย์ มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น ทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mobile Banking
  2. การแต่งต้ังตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) โดยธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ แต่หลักเกณฑ์ใหม่ได้ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่น ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย

เรื่องสำคัญที่ทาง ธปท. เน้นย้ำมากที่สุดคือในเรื่องของข้อ 2 โดยให้อิสระแก่ธนาคารจะเลือกนิติบุคคลรายใดเข้ามาทำ Banking Agent ได้เลย โดยไม่ต้องรอทาง ธปท. การแก้ไขจะลงในราชกิจจานุเบกษาในช่วงเดือนมีนาคมนี้

ดังนั้น ถ้าดูตามกฎเกณฑ์ของ ธปท. หาก 7-ELEVEN ได้รับแต่งตั้งเป็น Banking Agent โดยธนาคารพาณิชย์ เท่ากับเป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้น แต่ถ้า 7-ELEVEN จะขอใบอนุญาตเพื่อเปิดบริการธนาคารเลย คงไม่ใช่เรื่องง่าย

SEVEN BANK ที่ญี่ปุ่น: ภาพจาก Shutterstock

7-ELEVEN จะเป็นธนาคารใหม่ ต้องขอใบอนุญาตก่อน

ดังนั้น ประเด็นที่เข้าใจผิดกันว่า 7-ELEVEN จะเป็นธนาคารใหม่ จะสามารถทำได้ต้องขอใบอนุญาตตั้งธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงินทุนขั้นต่ำ เงินทุนสำรอง ฯลฯ

แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ในเวลานี้ ธปท. ยังไม่ได้เปิดให้มีการสมัครธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ โดยใบอนุญาต รายล่าสุดคือ LH Bank ที่มอบให้ในปี 2554 โดยทาง ธปท. ปรับสถานะจากธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ 7-ELEVEN จะตั้งเป็นธนาคารใหม่ และเป็นกรณีที่แตกต่างจาก Seven Bank ที่ญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการโดย Seven & I Holding บริษัทแม่ของ 7-ELEVEN ในญี่ปุ่น ที่มีสถานะเป็นธนาคาร สามารถฝาก ถอน โอน จ่ายได้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็เบิกได้

ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารได้ประโยชน์จากเรื่องของ Banking Agent

สำหรับ ใบอนุญาต Banking Agent จะเป็นผลดีกับทั้งธนาคารและ 7-ELEVEN โดยที่ธนาคารสามารถลดจำนวนสาขาหลัก และเปิดบริการคล้ายกับสาขาย่อย โดยเลือกนิติบุคคล เช่น ร้านสะดวกซื้อ ทั้ง 7-ELEVEN, Family Mart หรือ Lawson 108 และรวมถึงที่ทำการไปรษณีย์ไทย เพื่อให้บริการก็ได้

ธนาคารพาณิชย์ สามารถโฟกัสไปยังงานบริการอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาบริการระบบ QR Payment, ระบบสินเชื่อ หรือเรื่อง Wealth Management เป็นต้น

ขณะที่ Banking Agent ก็สามารถสร้างลูกค้าใหม่ๆ ที่มาใช้บริการ สร้างรายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีนี้ 7-ELEVEN ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาเกิน 10,000 แห่งทั่วประเทศไปแล้ว และน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

ตัวอย่าง ที่มีการให้บริการอยู่แล้ว เช่น ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่ให้บริการผ่าน 7-ELEVEN ที่มี Counter Service ช่วยให้สะดวกในการโอนเงิน โดยผู้รับไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร โอนเงินแล้วไปรับได้ที่เคาน์เตอร์ เซอร์วิส โอนเงินได้สูงสุด 5,000 บาทต่อครั้ง ใช้รหัส 8 หลักเพื่อรับเงิน โดยสามารถรับได้ภายใน 5 วัน เป็นต้น

ภาพจาก Shutterstock

ความสามารถของพนักงานในอนาคตยังน่าห่วง

Credit Suisse ได้ทำบทวิเคราะห์ล่าสุดว่าไม่แปลกใจ เพราะ CPALL แสดงความสนในเรื่องนี้มาสักพักแล้ว แต่ที่น่าสนใจในอนาคตคือ การฝึกอบรมความสามารถและทักษะของพนักงานในการให้บริการ ถ้าหาก CPALL ทำ Banking Agent จริงๆ แต่ทาง Credit Suisse ก็มองว่า CPALL อาจไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ โดยสามารถใช้ Know How ของ Seven Bank ของทางญี่ปุ่นมาใช้ได้

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย, BBC Thai

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา