สู้บาทแข็ง! ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเกณฑ์ให้เงินทุนไหลออกได้ง่ายมากกว่าเดิม

​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกและท่องเที่ยวในขณะนี้

Bank of Thailand ธปท.
ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท โดยจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ประเด็นสำคัญๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายครั้งนี้ ประกอบไปด้วย

การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ

  1. อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด
  2. ถ้าหากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์
  3. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น

การปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธปท. จะหารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

  1. เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  2. เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

การโอนเงินออกนอกประเทศ

  1. เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (Negative List)อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขายค่าเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท.
  2. อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ
  3. ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ ธปท. ยังอนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

ล่าสุดค่าเงินบาทราคาซื้อขายในตลาดโลกอยู่ที่ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นมา 0.21% โดยจุดสูงสุดของวันนี้อยู่ที่ 30.395 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงหลังการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมถึงมีการประกาศว่าจะมีมาตรการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ