ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ฉบับที่ 2) ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษในช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีเนื้อหาใน 2 ข้อหลักได้แก่
- ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณาให้สินเชื่อ ที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้โดยรวมของผู้บริโภค
- ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียม ใดๆ สำหรับกรณีผู้บริโภคไถ่ถอน หรือชำระคืนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) ทั้งเต็มจำนวนหรือบางส่วน
โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
สาเหตุที่ธปท. ต้องออกประกาศนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และ การห้ามคิดดอกเบี้ย ฯลฯ กรณีผู้บริโภคไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด ทำเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการไถ่ถอนหรือจ่ายคืนสินเชื่อก่อนกำหนด หรือ สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการ (refinance) ได้โดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค
ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำเพื่อให้เกิดการบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (MARKET CONDUCT) และเพื่อให้แนวทางการกำกับดูแลกรณีการเก็บดอกเบี้ย ฯลฯ กรณีผู้บริโภคไถ่ถอนหรือคืนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทต่างๆ สอดคล้องกัน
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา