Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แพ้โหวตกฎหมาย Brexit ในสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส. “งูเห่า” จากพรรคอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลที่ไม่พอใจ Johnson ย้ายขั้วไปโหวตให้ฝ่ายค้านถึง 21 คน
Johnson เตรียมแก้เกมด้วยการเสนอแผนยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้
ทำความเข้าใจ Brexit: Deal หรือ No Deal
สถานการณ์เรื่อง Brexit ในสหราชอาณาจักรมีความซับซ้อนสูง หลังการลงประชามติแยกตัวจาก EU ในปี 2016 ที่กำหนดว่าสหราชอาณาจักรต้องแยกตัวแน่ๆ ก็มีประเด็นในเชิงรายละเอียดว่า การแยกตัวจะทำอย่างไร เพราะสหราชอาณาจักรอยู่ใน EU มานาน กฎหมายต่างๆ ในประเทศผูกพันกับ EU อย่างมาก หากแยกตัวไปแล้วก็จะมีสุญญากาศทางกฎหมาย ความไม่ชัดเจนต่างๆ ตามมาอย่างมหาศาล
แนวทางที่อดีตนายกรัฐมนตรี Theresa May พยายามนำเสนอคือการเจรจากับ EU เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ (Brexit with deal) การเจรจาเริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอังกฤษเอง กรอบระยะเวลาการเจรจากำหนดไว้นาน 2 ปี ซึ่งจบลงในเดือนมีนาคม 2019 โดยไม่มีความคืบหน้า ทำให้นายกรัฐมนตรี Theresa May ตกลงกับบรรดาผู้นำ EU ขยายเส้นตายเป็น 31 ตุลาคม 2019
แต่หลังจากนั้น Theresa May ที่ไม่สามารถนำเสนอแผนการเจรจา Brexit ให้ผ่านรัฐสภาได้ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็น Boris Johnson อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จากพรรคอนุรักษ์นิยมที่ยังครองเสียงข้างมากในสภาอยู่
Boris Johnson ต่างจาก Theresa May ตรงที่เขาเอนเอียงมายังแนวทางออกจาก EU โดยไม่ต้องเจรจา (Brexit with No Deal) และถ้าภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ยังไม่มีข้อยุติ เขาก็พร้อมจะนำสหราชอาณาจักรออกจาก EU ทันที
Boris Johnson vs สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
แน่นอนว่า ฝ่ายค้านของอังกฤษ (รวมถึงฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง No Deal) ก็ไม่พอใจ Boris Johnson และพยายามใช้กลไกของสภาคานอำนาจของรัฐบาล โดยผ่านกฎหมายเพื่อยืดระยะเวลาเจรจา Brexit ออกไปอีกครั้ง (เป็นวันที่ 31 มกราคม 2020)
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Boris Johnson ตอบโต้กลับด้วยการนำเสนอแผนการหยุดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว (parliament suspension) ต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อบีบให้สภาผู้แทนราษฎรมีเวลาผ่านกฎหมายสำเร็จก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2019 น้อยลงอีกมาก และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการประท้วงมากมาย (การขอหยุดพักประชุมสภาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ Boris Johnson นำมาใช้เชิงยุทธศาสตร์เพื่อบีบเวลาของสภา)
แผนการหยุดพักประชุมสภาของ Boris Johnson เดินหน้าไปแล้ว (แม้จะมีความพยายามสกัดกั้นแผนการหยุดประชุมสภาด้วยกลไกทางศาล แต่ก็ยังไม่สำเร็จ) แต่การหยุดประชุมสภาจะมีผลในวันที่ 13 กันยายน 2019 ไปจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2019 นั่นแปลว่า รัฐสภายังมีเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ในการผ่านกฎหมายยืดระยะการเจรจา Brexit ออกไป
ส.ส. รัฐบาลย้ายขั้ว โหวตให้ฝ่ายค้านชนะ Boris Johnson
รัฐสภาอังกฤษจึงฉวยโอกาสที่ยังมีการประชุมสภาอยู่ นำเสนอร่างกฎหมายขยายระยะเวลาเจรจา Brexit ทันที กฎหมายนี้ถูกผลักดันจากฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคแรงงาน (Labour Party) ซึ่งมีเสียงรวมกันเป็นข้างน้อยของสภา แต่ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จากฟากรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ Boris Johnson
Boris Johnson ก็ทราบเรื่องนี้ และขู่ว่าถ้ามี ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมคนใดโหวตให้ฝ่ายค้าน ก็จะใช้กลไกของพรรคไล่ออกจากพรรค
แต่คำขู่ก็ไม่เป็นผล เพราะเมื่อคืนนี้ (3 กันยายน) สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ เห็นชอบกฎหมายยืดอายุการเจรจา Brexit ออกไป ด้วยคะแนน 328 ต่อ 301 เสียง นั่นแปลว่ามี ส.ส. ฟากรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยม 21 คน ย้ายขั้วมาโหวตให้ฝ่ายค้าน
Boris ไม่เหลือทางเลือก ต้องเสี่ยงยุบสภา เลือกตั้งใหม่
Boris Johnson เรียก ส.ส. เหล่านี้ว่าเป็น “กบฎ” และประกาศแก้เกมด้วยการเตรียมเสนอเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนอังกฤษเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด (BBC คาดว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2019)
แผนการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ของ Johnson จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบของรัฐสภาเช่นกัน โดยต้องได้รับเสียงโหวต 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมด 650 คน ซึ่ง Jeremy Corbyn ผู้นำฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่มาได้สักพักหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังมั่นใจว่าร่างกฎหมายขยายเวลา Brexit เป็นเดือนมกราคม 2020 จะสามารถออกเป็นกฎหมายได้ทันก่อนหยุดพักประชุมสภา ทำให้แผนการ Brexit with No Deal ในวันที่ 31 ตุลาคมของ Johnson จะเป็นหมันไปอย่างถาวร และกลับมาสู้กันใหม่ในกรอบเวลาเดือนมกราคม 2020
การโหวตของสภาเมื่อคืนนี้แสดงให้เห็นว่า แนวทางแข็งแกร้ว ออกจาก EU แบบ No Deal ของ Johnson ไม่สามารถเดินหน้าไปต่อได้ เพราะ ส.ส. ของพรรคเดียวกันเองยังมาโหวตค้าน ทำให้ Johnson ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก “เสี่ยง” ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
Theresa May เองก็เพิ่งยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2017 เพื่อกระชับอำนาจของเสียงในสภา แต่ผลกลายเป็นว่าจำนวน ส.ส. ของเธอกลับลดลงจนเสียงน้อยกว่าครึ่งสภา แม้จะยังตั้งรัฐบาลได้แต่ก็เป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค Democratic Unionist Party หรือ DPU
หากการเลือกตั้งครั้งนี้ Johnson เป็นฝ่ายชนะ ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากขึ้น เขาก็จะมีอำนาจผลักดันให้เกิด Brexit No Deal ได้สำเร็จ (แม้จะล่าช้ากว่าแผน)
แต่ถ้า Johnson พ่ายแพ้ พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนเสียงลดลง จนอาจสูญเสียการเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา อนาคตของ Brexit ก็จะยิ่งไม่ชัดเจนต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา