ตลาด E-Payment นี่แข่งขันกันหนักมาก ผ่านผู้เล่น Non-Bank ที่ได้รับใบอนุญาตเกือบ 60 ราย และหนึ่งในนั้นคือ ตู้บุญเติม ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่จริงๆ แล้วรู้หรือไม่ว่าตอนนี้จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานมีถึง 23 ล้านเลขหมายเลยทีเดียว
Fintech ยุคบุกเบิก กับจุดเด่นแฟรนไชส์
เมื่อ 10 ปีก่อน คำว่า Fintech คงยังไม่ถูกบัญญัติขึ้น เพราะช่วงนั้นยังมีแค่นวัตกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งช่วงเวลานั้นในประเทศไทยมีคนที่ผนวกเอาซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์มายกระดับบริการทางการเงินในสมัยนั้น และคงเป็นใครไม่ได้ถ้าไม่ใช่บุญเติม หรือบมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หนึ่งในบริษัทในเครือฟอร์ท ยักษ์ใหญ่ผู้จำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม ผ่านการทำตลาดตู้เติมเงิน และถึงจะเข้าตลาดช้ากว่ารายอื่นๆ แต่ด้วยความแตกต่างของสินค้า และบริการ ทำให้สามารถยืนระยะธุรกิจมาได้ พร้อมกับขึ้นเเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการตู้เติมเงินอีกด้วย
สมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส เล่าให้ฟังว่า บางคนก็นิยามบุญเติมให้เป็น Fintech เพราะตู้เติมเงินมันก็เป็นอีกเทคโนโลยีทางการเงิน ผ่านการเปลี่ยนจากขายบัตรเงินสดแบบขูด มาเป็นการจำหน่ายด้วยโค้ดดิจิทัลแทน เพื่อสร้างความสะดวกสบาย และยกระดับการใช้งานให้กับผู้บริโภค ดังนั้นถ้าบุญเติมจะเป็น Fintech ยุคแรกๆ ก็คงไม่น่าแปลกใจนัก และอีกเรื่องที่ทำให้บริษัทยืนระยะมาได้นาน พร้อมกับการเติบโตของธุรกิจก็คือรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ตอนนั้นผู้ให้บริการตู้เติมเงินทุกรายต่างใช้วิธีขายขาดให้กับผู้สนใจทั้งหมด
“ถ้าจะทำตู้เติมเงิน ตอนนั้นเรามองไว้คือผู้ใช้ต้องสะดวกที่สุด และคนที่ช่วยเราขยายตลาดต้องโตไปด้วยกัน ดังนั้นวิธีแฟรนไชส์จึงเหมาะสมที่สุด โดยบริษัทจะเป็นผู้ผลิต และเป็นเจ้าของตู้ พร้อมกับมีตัวแทนขายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อไปหาพื้นที่ และติดต่อเช่าเพื่อนำตู้ไปวาง ซึ่งผู้ให้เช่าพื้นที่ก็จะได้สิทธิ์เรื่องค่าธรรมเนียมการเติมเงินในแต่ละครั้งไป ส่วนตัวแทนก็ได้ค่าคอม ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้มันดีกว่าขาดขายที่คู่แข่งเราทำมาก่อนหน้านี้ เพราะตัวแทนขายของแต่ละบริษัทก็จะเร่งขาย และมอบสิทธิ์ของตู้ให้กับเจ้าของพื้นที่ในการทำตลาดเอง ดังนั้นอยู่ได้แป๊บเดียวก็ขอคืนตู้ เพราะเริ่มขาดทุน”
ลงทะเบียน 23 ล้าน จุดใช้บริการ 1.2 แสนแห่ง
ดังนั้นผู้สนใจที่จะตั้งตู้บุญเติมจะชำระเงินขั้นต้น 12,480 บาท ประกอบด้วย ค่าแรกเข้า และติดตั้ง 7,000 บาท, ค่าเงินหมุนเวียนในตู้ 5,000 บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 480 บาท ดังนั้นจากราคาที่ต่ำ ทำให้ปัจจุบันตู้บุญเติมสามารถขยายจุดให้บริการในสิ้นปี 2559 ได้ 90,000 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.2 แสนแห่งภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงบริการในตู้ที่ไม่ได้มีแค่เติมเงินโทรศัพท์มือถือ แต่ยังมีอีก 60 บริการ เช่นการชำระบิลต่างๆ, ดูดวง, ซื้อบัตรเงินสด, ซื้อประกัน และโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารต่างๆ ทำให้ยอดผู้สมัครเข้ามาใช้งานตู้บุญเติมมีถึง 23 ล้านเลขหมาย หรือ 1 ใน 3 ของเลขหมายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย
สำหรับตู้บุญเติมนั้นใช้ระบบลงทะเบียนด้วยเลขหมายโทรศัพท์มือถือ เพราะตัวตู้จะไม่ทอนเงินหากชำระเกินกว่าราคาสินค้า และบริการ โดยเงินทอนนั้นจะเก็บไว้ในรูปแบบเครดิต ทำให้เวลาย้ายไปใช้งานตู้บุญเติมที่อื่นก็ยังมีเครดิตตัวนี้ใช้อยู่ โดยการใช้งานต่อวันอยู่ที่ 2 ล้านรายการ และมีมูลค่าต่อวัน 80 ล้านบาท โดยบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือคิดเป็น 90% ของทั้งหมด แต่ปีนี้จะพยายามสร้างการรับรู้ของบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการทำตลาดตู้กดน้ำดื่มบรรจุขวดที่เติมเงินได้, ตู้กดน้ำสะอาดที่เติมเงินได้ และเคาท์เตอร์เซอร์วิสที่มีจุดเด่นเรื่องการชำระสินเชื่อ, บัตรเครดิต และเบี้ยประกันต่างๆ ที่ตู้ปกติข้างต้นทำไม่ได้
ลุย E-Wallet เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ขณะเดียวกัน บุญเติม เตรียมขยายธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยบริการจำหน่ายตั๋วออนไลน์ House of Ticket และแอปพลิเคชั่น E-Wallet ในขื่อ BeWallet ภายในเดือนก.พ. เพราะต้องการเพิ่มโอกาสรายได้ และลดความเสี่ยงของธุรกิจจากการยึดติดกับบริการเติมเงินเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญระบบ BeWallet นั้นจะเชื่อมต่อกับบัญชีตู้เติมเงินบุญเติม ทำให้การใช้งานเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น และตอบโจทย์ผู้ใช้ทั้งกลุ่ม Tech-Savvy และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เติมเงินทีละไม่มากด้วย
สรุป
การเดินหน้าของ บุญเติม นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจู่ๆ ก็ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศในเรื่องตู้เติมเงิน โดยทิ้งคู่แข่งอย่างซิงเกอร์ และกระปุกเติมเงินไม่เห็นฝุ่น ซึ่งจุดแข่งของแบรนด์นี้คือการใช้โมเดลแฟรนไชส์เพื่อโตไปด้วยกันกับคู่ค้า ดังนั้นภายใน 3 ปีข้างหน้า ผู้นำตลาดตู้เติมเงินรายนี้น่าจะขยายตู้ออกไปได้ 1.7 แสนตู้ทั่วประเทศตามเป้าหมายแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา