บุญรอดฯ สร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหาร ต้นน้ำยันปลายน้ำ เป็น 1 ใน 6 เสาหลักธุรกิจบริษัท

เป็นที่รู้กันว่า “ธุรกิจอาหาร” เป็น 1ใน 6 เสาหลักของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ การวางจิ๊กซอว์ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ สร้างซัพพลายเชนอาหารกำลังทะยานสู่ธุรกิจอาหารครั้งใหญ่

สำหรับ 6 เสาหลักธุรกิจของกลุ่มบุญรอดฯ ประกอบด้วย 1. ธุรกิจเบียร์-โซดา 2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วหรือ บางกอกกล๊าส 3. ธุรกิจภูมิภาค ภายใต้สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4. สิงห์ เอสเตท 5. บุญรอดซัพพลายเชน และ 6. ธุรกิจอาหารในนาม ฟู้ด แฟคเตอร์

ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มบุญรอดฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจอาหาร เริ่มจากการจัดตั้งบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ เพื่อต้องการสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจอาหาร ซัพพลายเชน ครบวงจรตั้งแต่ในประเทศจนถึงต่างประเทศ ภายใต้การ Synergy ร่วมผนึกความแข็งแกร่งระหว่างกลุ่มธุรกิจสร้างการเติบโตร่วมกัน

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด (Food Factors)

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด (Food Factors) เล่าว่า ตอนนี้เป็นช่วงเฟสสองของธุรกิจอาหารแล้ว และพร้อมจะทะยานในธุรกิจอาหารอีก 5  ปีข้างหน้านี้ สู่รายได้ 15,000 ล้านบาท

กว่าจะมาถึงวันนี้ เราได้วางโครงสร้างกลุ่มธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรามีกลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production)  ถือว่าธุรกิจต้นน้ำหรือโรงงานการผลิตของบุญรอดฯ

โดยมี 1.บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ผลิตซอสปรุงรส ผงกระหรี่ และพริกแกง อาหารพร้อมทาน 2.บริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด โรงงานผลิตอาหารแปรรูป อาทิ มะพร้าวอบกรอบโคโค แจ๊ส และ 3.บริษัท วราฟู้ดแอนด์ดริ๊งค์ จำกัด โรงงานผลิตผลไม้และผักแปรรูปบรรจุกระป๋อง  

โปรดักส์แชมป์เปี้ยน Made By Todd ซอส ต๊อด

มาดูธุรกิจกลางน้ำกันบ้าง กับกลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) ต้องเดินหน้าสร้างโปรดักส์แชมป์เปี้ยน โดยการนำสินค้าไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ตอนนี้มีแค่ 2 แบรนด์ คือ ซอสอเนกประสงค์ Made By Todd ซอสต็อด และสาหร่ายมาชิตะ เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยน 25 รายการ

แนวทางการสร้างโปรดักส์แชมป์เปี้ยน มีทั้งการปั้นแบรนด์ขึ้นเอง การร่วมทุนกับแบรนด์อื่นๆ การร่วมกับเครือข่าย โดยสินค้าต้องมียอดขายที่ดี มีแบรนด์อิมเมจ และเซ็กเมนต์ของสินค้าชัดเจน

นอกจากนี้ มีกลุ่ม Bevchain logistics ในการสร้างเครือข่ายทางการขนส่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน 

และธุรกิจปลายน้ำในการดันสินค้าถึงมือผู้บริโภค กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) ในพอร์ตโฟลิโอ มีร้านอาหาร 5 ร้าน ได้แก่ ร้านอาหารเอส 33 ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji ร้านฟาร์มดีไซน์ เหม็ง นัว นัว และล่าสุดเสต๊กซานโต เฟ่

ในอนาคตมองการขยายธุรกิจจะต้องมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ 2-3 แบรนด์ ทั้งในรูปแบบการร่วมทุนหรือการซื้อกิจการ เพื่อเสริมพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่ง

การสร้างธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะธุรกิจอาหารจะแข่งขันสูง สุดท้ายจะตัดกันที่ใครบริหารต้นทุนได้ดีกว่ากัน แม้ว่าบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องมอง

เส้นทางต่อไปสร้างซัพพลายเชน 

ปิติ เล่าว่า หลังจากโครงสร้างธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ เส้นทางของเราต้องการสร้างซัพพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจร 

ได้การศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ ครัวกลาง (Central Kitchen)” เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า (Central Distribution) โดยมีกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร

เพิ่มพอร์ตโฟลิโอ ร้านเสต๊กซานโต เฟ่ กลุ่ม Food Retail

ร้านสเต๊กซานตา เฟ่ จิ๊กซอว์ Food Retail 

การซื้อกิจการสเต๊กซานตา เฟ่ ลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท จากบริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่

นับว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่เข้ามาเสริมศักยภาพในส่วนของกลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) ประเภทร้านเสต๊กและเติมเต็มธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอครอบคลุมยิ่งขึ้น

ทางที่จะไปสำหรับสเต๊กซานตา เฟ่ แน่นอนว่าด้วยจำนวนสาขามากกว่า 117 สาขา เอื้อต่อการนำสินค้ามาจำหน่ายน้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า กลุ่มเบียร์สิงห์ ลีโอ หรือกระทั่งนำข้าวบรรจุถุงพันดีมาใช้วัตถุดิบในร้าน ฯลฯ

นอกจากนี้ยังช่วยเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ราคา วัตถุดิบ ร่วมกับร้านอาหารในเครือ อาทิ ร้าน EST.33, Farm Desing, Kitaohji 

การร่วมคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ร่วมกันกับกลุ่มบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด และมี Food innovation Center ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมพัฒนาเมนูและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับร้านเสต๊กซานตาเฟ่

เพิ่มพอร์ตโฟลิโอสไตล์บุญรอดฯ

ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งในการลงทุนใหม่ๆ ขณะนี้เหลือเม็ดเงินร่วม 3,000 ล้านบาท จะพิจารณาถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบุญรอดฯ หากเป็นบริษัทที่ดี มีสินค้าเข้ามาเสริมศักยภาพฟู้ด แฟคเตอร์

โดยเฉพาะการลงทุนร้านอาหารที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง คุณภาพดี รสชาติอาหารอร่อย เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารให้ครอบคลุมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยรูปแบบการลงทุน มีทั้งการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition : M&A)

สรุป

เทรนด์อาหารภาพรวมธุรกิจอาหารในประเทศไทย ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตอย่างมากในทุกเซ็กเมนต์ และยังเป็นธุรกิจที่โดนดิสรัปชั่นน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าขณะนี้รายได้กลุ่มธุรกิจอาหารและซัพพลายเชน ยังมีสัดส่วน 5%  หรือราว 4,500 ล้านบาท ก็ตาม แต่ในอนาคตการวางจิ๊กซอว์ของธุรกิจอาหารและซัพพลายเชน ปักหมุดถึงการเป็นศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรม “เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์” ในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องรอดูกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา