การระบาดของโรค COVID-19 เกิดขึ้นทั่วโลก และไทยเป็นหนึ่งนั้น แต่ด้วยการช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้นของหลายภาคส่วน รวมถึง “บุญรอดบริวเวอรี่” เองที่ให้การช่วยเหลือมาตั้งแต่แรก โดยการมอบเงินสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลหลักทั่วประเทศที่ให้การดูแลผู้ป่วย COVID-19 เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ อีกทั้ง สนับสนุนอาหารและน้ำดื่มแก่คณะแพทย์ พยาบาล ด้วยการส่งมอบอาหารแช่แข็ง อาหารรีทอร์ท และอาหารปรุงสุกเมนูพิเศษจากร้านอาหารในเครือ Food Factors อาทิ ร้าน EST.33, เชฟป้อม ไชนีส คูซีน บายต๊อด, Made By Todd Pop Up Restaurant ให้โรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดต่าง ๆ
และที่สำคัญ บุญรอดฯได้ประกาศเดินหน้าบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งในเรื่องของปากท้องและการสร้างอาชีพเพื่อสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านโครงการสิงห์อาสาทั่วประเทศ ถึงปัจจุบันมีผลลัพธ์อะไรออกมาบ้าง ลองมาทราบความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวกัน
สร้างรายได้ผ่านการทำงานอาสาสมัครดูแลท้องถิ่นของตน
โดยบุญรอดฯ เริ่มโครงการโดยมีการจ้างงานผ่าน 3 โครงการคือโครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า คลอบคลุม 10 จังหวัด ภาคเหนือ และภาคตะวันออก, โครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง คลอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน และโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม คลอบคลุม 7 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งอาสาสมัครที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการจะได้รับเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอาหาร โดยทั้ง 3 โครงการนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเกิดการจ้างงานกว่า 3,000 ครัวเรือน
สำหรับโครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า ทางบริษัทฯจะเข้าไปสร้างงานให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโรค COVID-19 จนไม่สามารถหารายได้จากการทำงานได้ โดยบริษัทฯจัดการอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันไฟฟ้า รวมถึงการใช้งานเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการดับไฟป่า และผู้อบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยง พร้อมน้ำดื่ม อาหาร และข้าวพันดี เพื่อบรรเทาปัญหาช่วงนี้
ส่วนโครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง บุญรอดบริวเวอรี่ได้เปิดให้คนในท้องถิ่นร่วมป็นอาสาสมัครของโครงการ ทั้งในส่วนของจุดบริการน้ำให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยติดตั้งแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ (2,000 ลิตร) ในโรงเรียนหรือแหล่งชุมชนที่ขาดแคลนน้ำดื่ม โดยจะมีรถขนส่งน้ำของสิงห์อาสานำน้ำไปเติมให้ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจว่ามีน้ำสะอาดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พร้อมขุดบ่อน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและใช้ในครัวเรือน เป็นการสำรองน้ำไว้ยามขาดแคลนจากภาวะภัยแล้ง รวมไปถึงการแจกจ่ายน้ำดื่มให้กับประชาชนในหมู่บ้านโดยมีเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคอีสาน 16 สถาบัน ร่วมดูแลปัญหาภัยแล้งทั่วทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน
ด้านโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม บุญรอดฯ มองเห็นภัยทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วมที่ยังเป็นปัญหาทุกปี จึงร่วมมือกับเครือข่ายนักศึกษา และชาวบ้านในภาคกลาง เพื่อช่วยกันกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางน้ำไหลในคูคลองต่างๆ พร้อมนำผักตบชวาเหล่านั้นไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานจัดจำหน่าย และบางส่วนจะนำไปทำเป็นปุ๋ยต่อไป
ทั้งนี้ชาวบ้านที่เข้ามาช่วยเหลือทั้งสามโครงการจะได้รับเบี้ยเลี้ยง พร้อมอาหาร น้ำดื่มและข้าวพันดีเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการจ้างงานของบุญรอดฯที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ในช่วงเวลาที่หลายธุรกิจประสบปัญหา และสามารถดำเนินชีวิตไปได้ดีขึ้นในช่วงเวลานี้
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา สิงห์อาสาได้มีการระดมทีมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ในยามเกิดภัยธรรมชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากมีการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นแบบเป็นระบบ ประชาชนก็สามารถอยู่ร่วมกับภัยต่างๆ เหล่านี้ได้ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้งเป็นภารกิจหลักที่สิงห์อาสาทำมาอย่างต่อเนื่อง
อบรมทักษะวิชาชีพ โดยใช้ศักยภาพของบริษัทในเครือฯ
โครงการสิงห์อาสาอบรมสร้างอาชีพ เป็นหนึ่งในโครงการที่บุญรอดฯ ได้ใช้ศักยภาพของบริษัทในเครือทั้งหมด ร่วมกับ เครือข่ายของสิงห์อาสาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย, สถาบันอาชีวศึกษา, ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพ เปิดคอร์สอบรมฟรีให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำทักษะความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะอาชีพ ได้แก่ การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านอาหาร สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านงานช่าง การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านการเกษตร
โดยที่ผ่านมา ได้เปิดโครงการอบรมสร้างอาชีพในกลุ่มทักษะวิชาชีพทางด้านอาหาร สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กไปแล้ว 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร 10 เมนูยอดนิยม อร่อยง่ายๆ สำหรับร้านอาหารตามสั่งทั่วไป หลักสูตรเครื่องดื่มร้อน-เย็น เต็มสูตร โดย ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทีม R&D จากร้าน Farm Design และทีมบาริสต้า จากสิงห์ปาร์ค เชียงราย และหลักสูตร สร้างตัวกับเมนูเดลิเวอรี่
ทั้งนี้หลักสูตรข้างต้นทั้งหมด มี เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟรางวัลมิชลิน 2 ดาว จากร้าน R.HAAN และ “เชฟป้อม” ธนรักษ์ ชูโต เชฟกะทะเหล็กอาหารจีน ร่วมวางหลักสูตร ที่สำคัญคือหลักสูตรทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย และเริ่มเดินหน้าโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดทั้งโครงการมีผู้สมัครเข้ารับการอบรมจำนวนมากและต่างมีความเห็นว่าโครงการสามารถนำไปต่อยอดได้จริง ถือเป็นการสร้างโอกาสหารายได้ให้กับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากวิกฤต COVID-19 ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคมนี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เตรียมเปิดอบรมในกลุ่มทักษะวิชาชีพทางด้านงานช่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายของสิงห์อาสาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย, สถาบันอาชีวศึกษา, หน่วยงานชั้นนำ นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพ เปิดคอร์สอบรมฟรีให้กับผู้ที่สนใจ โดยสามารถติดตามได้ที่เฟสบุ๊ค : Singha R-SA สิงห์อาสา
งบประมาณช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
โดยหากนับตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัทในเครือฯ ตลอดจนตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศได้ทุ่มเทศักยภาพทุกด้านที่มีจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือไปยังบุคคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ในรูปแบบต่างๆ เป็นมูลค่าการช่วยเหลือรวมกว่า 200 ล้านบาท
เจาะลึกบริษัทต่างประเทศว่าช่วงอะไรบ้าง
นอกจากทางบุญรอดฯ จะเข้ามาช่วยเหลือในวิกฤต COVID-19 แล้ว องค์กรขนาดใหญ่อื่นๆ ในระดับโลกก็เข้ามาช่วยเหลือเช่นกัน ผ่านการบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ที่ประสบปัญหาจากวิกฤต COVID-19
หากเจาะลึกว่าแต่ละบริษัททำอะไรไปบ้างจะพบว่า Microsoft มีการบริจาคเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่องค์กรอนามัยโลก (WHO) รวมถึงศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยกันหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ พร้อมกับพัฒนาวัคซีนในระยะยาว
ส่วน Alibaba ได้มีการบริจาคโดยเงินส่วนตัวของ Jack Ma มูลค่ากว่า 14.4 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังบริจาคหน้ากากอนามัยกว่า 1 ล้านชิ้นให้กับประเทศญี่ปุ่นเพื่อตอบแทนการช่วยเหลือประเทศจีนในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงมอบทุน 2.15 ล้านดอลลาร์ให้กับสถาบัน Doherty ในออสเตรเลียเพื่อพัฒนาวัคซีนเช่นกัน และมอบคอมพิวเตอร์ AI ให้แก่องค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการค้นหาวัคซีนและวิธีรักษา
ด้าน Tencent มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในเมืองอู่ฮั่น ที่สำคัญ Pony Ma ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ได้บริจาคเงินกว่า 42 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ COVID-19 ในหลายพื้นที่
รวมถึงทาง Boeing ที่บริจาคหน้ากากอนามัย และบริษัทเกี่ยวกับการผลิตเครื่องยนต์อย่าง Ford ได้เข้ามาช่วยเหลือในการผลิตเครื่องช่วยหายใจ เช่นเดียวกับ Dyson เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนทาง LVMH ผู้จำหน่ายสินค้าแบรนด์หรู ได้เข้ามาผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อส่งมอบให้กับผู้บริโภคไว้สำหรับใช้ทำความสะอาดมือ และสิ่งที่ต้องไปสัมผัส
สรุป
ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ถึงแม้ในยามวิกฤตเช่นนี้ จะต่างประเทศหรือว่าคนไทยก็ยังมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเสมอ หลายหน่วยงานออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เฉกเช่นเดียวกันกับบุญรอดบริวเวอรี่ ในการช่วยเหลือสังคมไทยในด้านต่างๆ ถือเป็นปรัชญาการทำงานของบริษัทฯ ตามเจตนารมณ์ของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กร ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 87 ปี ที่เป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยเหลือคนไทยและสังคมไทยมาโดยตลอด เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นทุกวิกฤตไปด้วยกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา