คุยกับสำนักพิมพ์ bookscape ทางรอดของคนทำหนังสือ ในยุคที่เทคโนโลยีไม่เคยรอใคร

ในยุคที่อัตราส่วนรายได้ของหนังสือเล่มลดลงทุกปี หรือแม้แต่การที่หนังสือได้ตีพิมพ์น้อยลง แถมยังมีกิจกรรมอื่นๆ มาแย่งเวลาจากการอ่านอีก หลายคนก็มองว่าอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์จะหายไปในอนาคตอย่างแน่นอน

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หรือเรียกสั้นๆ ว่า พี่เป็ด บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ bookscape กล่าวว่า “เวลาบอกว่าผมทำอาชีพอะไร หลายคนก็ชอบทักผมว่า ‘หนังสือเล่มยังขายได้อยู่อีกหรอ?’” 

สำนักพิมพ์ bookscape เป็นสำนักพิมพ์อิสระที่ตีพิมพ์หนังสือหลากหลายแนว มุ่ง “สร้างสรรค์ปัญญาความรู้ใหม่ให้แก่สังคมไทย” เน้นหนังสือให้ความรู้ต่างๆ ทั้งหนังสือแปลและหนังสือของนักเขียนชาวไทยเอง โดยพี่เป็ดจะมาเล่าถึงมุมมองของสำนักพิมพ์ที่รักในการทำหนังสือให้เราฟังกัน

เสน่ห์ของหนังสือ

ถึงแม้ว่าโซเชี่ยลมีเดียหรือกิจกรรมอื่นๆ จะแย่งเวลาจากการอ่านไป แต่พี่เป็ดก็เชื่อว่าคนเรายังอ่านหนังสือกันอย่างเป็นประจำ

“หลายคนมักจะสับสนเวลาพูดถึงหนังสือเล่ม และนำไปรวมกับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่าง แมกกาซีนที่หายไปเยอะแล้ว แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า หนังสือเล่มยังไม่ตาย 

พี่เป็ดเชื่อว่าการอ่านหนังสือเล่มทำให้ผู้อ่าน “เสพเนื้อหาเชิงลึก” และมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อชนิดนี้ตามลักษณะพิเศษของความเป็นกระดาษได้ สามารถหยุดพักและนั่งคิด แล้วค่อยกลับมาอ่านได้ ตามความเชื่อ “medium is the message” หรือที่แปลว่า สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของสาร เช่นเดียวกัน

การปรับตัวในยุคดิจิทัล

ในฐานะสำนักพิมพ์ พี่เป็ดก็ยอมรับว่าทาง bookscape ยังเน้นขายหนังสือเล่มอยู่เป็นส่วนมาก แต่ก็เห็นข้อดีของหนังสือในรูปแบบของ e-book และ audiobook เช่นเดียวกัน ทว่า ในประเทศไทย ทั้งสองสื่อนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือการลงทุนที่มากพอเท่านั้นเอง

Photo by freestocks on Unsplash

พี่เป็ดมองว่าเนื้อหาเชิงลึกอย่างความรู้ ความเข้าใจต่างๆ สามารถส่งต่อให้แก่ผู้รับสารได้หลายวิธี โดย e-book จะได้เปรียบด้านการพกพาสะดวก และมีปฏิสัมพันธ์ที่มากกว่าการอ่านได้ เช่น การกดลิงก์ภายในเล่มที่พาผู้อ่านไปสู่เนื้อหาเพิ่มเติมอื่นๆ ได้ แต่ปัญหาของ e-book ในประเทศไทยก็คือฝั่งสำนักพิมพ์ยังมอง e-book เป็น PDF อยู่ โดยนำหนังสือเล่มทั้งเล่มมาตีพิมพ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งนอกจากจะอ่านไม่สะดวกแล้ว ยังให้ประสบการณ์ที่แย่กว่าหนังสือเล่มอีกด้วย

ส่วน audiobook ที่เปิดฟังไปพลางๆ ได้จะช่วยให้ใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การฟังระหว่างการทำกิจกรรมอื่นอย่าง การทำกับข้าวหรือออกกำลังกาย เป็นต้น 

ด้วยสถานการณ์โควิด e-book และการขายหนังสือเล่มผ่านช่องทางออนไลน์ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการที่ร้านหนังสือต้องปิดตัวลง หรือแม้แต่การที่ e-book มีราคาถูกกว่าหนังสือเล่มก็ตาม

ร้านหนังสือยังจำเป็นอยู่ไหม?

เมื่ออัตราส่วนรายได้ของหนังสือที่มาจากการขายหนังสือเล่มออนไลน์เพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมถึงจำนวนสาขาที่น้อยลง คำถามด้านความจำเป็นของร้านหนังสือก็เกิดขึ้น

ในฐานะสำนักพิมพ์ พี่เป็ดเชื่อว่า ร้านหนังสือยังจำเป็นอยู่ เพราะสปิริตของคนทำร้านหนังสือนั้นสำคัญมาก 

ด้วยความเชื่อที่ว่า “ร้านหนังสือที่ดี คือ ร้านที่เลือกหนังสือเป็น” นักอ่าน หรือ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังค้นพบหนังสือที่ตัวเองสนใจได้จากการจัดวางหนังสือของร้านหนังสือ ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งร้านหนังสือแต่ละร้านก็จะจัดหมวดหมู่และเลือกหนังสือแตกต่างกันไป เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาเจอหนังสือใหม่ๆ ได้

Photo by Takafumi Yamashita on Unsplash

นอกจากนั้น ความสำคัญของการมีร้านหนังสือที่ตั้งอยู่ในสถานที่จริงคือ การจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันนักอ่านได้ เช่น การจัด Book Talk ที่ให้นักอ่านของหนังสือเล่มนั้นๆ มาคุยกัน หรือ การเชิญนักเขียนหรือนักแปลมาพูดคุยกับนักอ่าน เป็นต้น ถือเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปกว่าการซื้อ-ขายอย่างเดียว

อีกทั้ง ยังมีนักอ่านที่ชอบประสบการณ์เชิงกายภาพในการเลือกหนังสือ หรือผู้ที่ต้องการจับหนังสือก่อนซื้อ ร้านหนังสือก็ยังจำเป็นอยู่มาก

ด้านร้านหนังสือออนไลน์เอง ถ้าหากเจ้าของมีสปิริตของการเป็นร้านหนังสือ ตั้งใจเลือกหนังสือ จัดหมวดหมู่ที่น่าสนใจ นำหนังสือของสำนักพิมพ์หนึ่งไปจัดรวมกับของรายอื่นๆ เพื่อสร้างความหมายใหม่ หรือเพิ่มการทำคอนเท้นท์ออนไลน์เข้ามา ก็ช่วยในการเพิ่มยอดและความสนใจให้สำนักพิมพ์ได้

ตัวอย่างร้านค้าออนไลน์ของสำนักพิมพ์ bookscape

สำนักพิมพ์ขนาดเล็กปรับตัวอย่างไรดี

สำหรับสำนักพิมพ์ พี่เป็ดมองว่าสิ่งแรกที่สำคัญในอนาคต คือ การเลือกหนังสือให้คมชัดมากขึ้น เลือกเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนและมีคุณภาพมากพอสำหรับสังคมปัจจุบันพอที่จะแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้

การเพิ่มช่องทางการขายเองก็จำเป็น เพราะการขายออนไลน์มาแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยสำนักพิมพ์ต้องเข้าใจความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์มก่อน เช่น ถ้าเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง ทางสำนักพิมพ์ก็จะเลือกวิธีสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง แต่แพลตฟอร์มอย่าง Shopee ก็จะพบเจอปัญหาด้านรีวิวแย่ๆ ที่อาจจะนอกเหนือความควบคุม เช่น ความช้าของการขนส่ง ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขจากการแพ็คให้ดีขึ้น ตอบให้เร็วขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้น สำนักพิมพ์ควรทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ให้มากขึ้น เช่น การสื่อสารกับร้านหนังสือต่างๆ ว่าอยากให้นำเสนอหนังสือของเราอย่างไรในช่องทางต่างๆ ของเขา รวมถึงการส่งหนังสือให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมทมากขึ้นด้วย เป็นการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

พี่เป็ดให้ข้อมูลว่า ส่วนตัวยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนถึงขายหนังสือบน Twitter กัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายและการสื่อสารในอนาคตที่ต้องเข้าใจมากขึ้น

สรุปแล้ว สำนักพิมพ์ควรใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีในการนำเสนอเนื้อหาของหนังสือตัวเองออกไปให้คนรับรู้มาขึ้น สร้างเอนเกจเม้นมากขึ้น ด้วยช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มยอดขายอย่างเดียว แต่เพื่อเผยแพร่เนื้อหาที่เราผลิตออกมาด้วย

บทบาทของรัฐ

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ หนังสือถือเป็นสินค้าที่สร้างผลกระทบภายนอกเชิงบวก (positive externalities) ซึ่งแปลว่า การที่คนๆ หนึ่งอ่านหนังสือ ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อคนๆ นั้นและคนรอบตัวของเขาด้วย ซึ่งเป็นผลบวกโดยรวมให้สังคมในทางเดียวกันกับการศึกษา เพราะฉะนั้น รัฐควรให้การสนับสนุนสินค้าและบริการประเภทนี้มากขึ้น

รัฐสามารถช่วยสำนักพิมพ์ได้หลายทาง เช่น การลดภาษีนำเข้าของกระดาษ หรือการช่วยลดค่าส่งสื่อสิ่งพิมพ์ (การส่งหนังสือผ่านการเย็บกระดาษของไปรษณีย์ไทยไม่ค่อยเหมาะสมกับยุคปัจจุบันสักเท่าไหร่) บางประเทศจะมีระบบซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรงเข้าห้องสมุดของรัฐอีกด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยเหลือสำนักพิมพ์ได้อย่างมาก

สรุป

เมื่อสำนักพิมพ์ต้องต่อสู้กับเวลาในการอ่านที่น้อยลงของนักอ่าน รวมถึงคู่แข่งที่หลากหลายมากขึ้น การปรับตัวก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็น น่าจับตามองว่าอนาคตของอุตสาหกรรมหนังสือในไทยและโลกจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา