ถอดรหัสแบรนด์เก๋า “บุญรอดบริวเวอรี่” กับการ Transform ธุรกิจให้ยั่งยืน

การทำธุรกิจในยุคนี้มีความยาก และความท้าทายอยู่มาก การที่องค์กรหนึ่งจะยืนหยัดมากว่า 85 ปีจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา อย่าง “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือ “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” มีการผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ แต่ยังแข็งแกร่งในตลาดได้ตลอด

แบรนด์มีอายุเยอะ ไม่ใช่ปัญหาของบุญรอดฯ

จนถึงวันนี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทแม่ของกลุ่มบุญรอดทั้งหมด หรือ ที่คุ้นหูในนาม สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้เดินทางมาถึง 85 ปีแล้ว มีสินค้าในเครือทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ อาทิ น้ำดื่ม โซดา ขนม ข้าว และธุรกิจอื่นๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ บรรจุภัณฑ์ และตอนนี้กำลังรุกธุรกิจอาหารอย่างหนัก

บุญรอดบริวเวอรี่ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2476 โดยพระยาภิรมย์ภักดี เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจครอบครัวที่บริหารโดยทายาทตระกูลภิรมย์ภักดีมาตลอด จนตอนนี้ถึงเวลาของทายาทรุ่นที่ 4 ขึ้นมาบริหารอย่าง “คุณเต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี” และ “คุณต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี”

บุญรอดฯ ถือเป็นบริษัทผลิตเบียร์รายแรกในประเทศไทยปลุกปั้น “เบียร์สิงห์” เป็นแบรนด์แรก วางจุดยืนเป็นเบียร์ระดับพรีเมี่ยม โดยที่ผ่านมามีการต่อสู้กับคู่แข่งทั้งอินเตอร์ และคู่แข่งในประเทศ เป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่บุญรอดฯ ก็ได้มีการแก้เกมอย่างแยบยล ทั้งการออกไฟท์ติ้งแบรนด์อย่าง “เบียร์ลีโอ” จนกลายเป็นเบียร์อันดับหนึ่งในประเทศไทยไปแล้วตอนนี้

นอกจากเบียร์แล้ว บุญรอดฯ ยังจัดหาธุรกิจใหม่และได้ขยายธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายตามเทรนด์ตลาด มีการรุกหนักธุรกิจไม่มีแอลกอฮอลล์อย่างน้ำดื่ม โซดา ขนม สาหร่ายทะเล  ข้าว หวังให้มีรายได้เทียบเท่าเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพราะต้องบอกว่าว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มีการทำการตลาดที่จำกัด และมีข้อกฎหมายมากมาย ทำให้ได้เห็นสิงห์ฯ แตกธุรกิจใหม่ๆ เป็นการปรับตัวของบริษัทด้วย

เบียร์ยังเป็นพระเอก แต่ต้องรีแบรนด์/เสริมทัพด้วยคราฟท์เบียร์

ถึงแม้ว่าในช่วงหลังบุญรอดฯ หรือสิงห์จะบุกหนักในหลายๆ ธุรกิจเพื่อเสริมทัพให้อาณาจักรแข็งแกร่งขึ้น แต่ธุรกิจเบียร์ก็ยังคงเป็นพระเอกหลักอยู่ และสตรองมากที่สุด ยังครองความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ในไทยที่มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท นำทัพโดยแบรนด์หลักอย่างสิงห์ ลีโอ และสิงห์ไลท์

แต่บุญรอดฯ ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพราะการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการเข้ามาของ “คราฟท์เบียร์” ก็มีส่วนในการเขย่าตลาดไม่น้อย ทำให้ต้องมีการ “รีแบรนด์” ควบคู่กับการออก “สินค้าใหม่”

ในปีนี้ได้ทำการรีแบรนด์ “เบียร์สิงห์” ครั้งใหญ่ในรอบ 19 ปี มีทั้งการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ปรับดีไซน์ขวดจากเดิมที่มีฉลากติด เปลี่ยนเป็นโลโก้สิงห์ที่นูนขึ้นมาจากขวด สร้างความแปลกใหม่ และพรีเมี่ยมมากขึ้น เป็นการปรับเพื่อจับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะหลายคนมองภาพลักษณ์ของเบียร์สิงห์ว่าเป็นเบียร์รุ่นพ่อ ทำให้ไม่กล้าดื่มเท่าไหร่นัก

นอกจากการรีแบรนด์แบรนด์เก๋าให้กลับมามีชีวิตชีวา ก็ได้เสริมทัพด้วยแบรนด์ใหม่ สร้างสีสันและความตื่นเต้นในตลาด ได้แก่ ยู เบียร์, สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส 33 และล่าสุดค็อปเปอร์ คราฟเบียร์ ที่ช่วยจับกลุ่มนักดื่มที่หลากหลายมากขึ้น และทำให้พอร์ตโฟลิโอของสิงห์แน่นขึ้นเช่นกัน

รุกนอนแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอลล์ก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ออกสินค้าใหม่ๆ และมีกิจกรรมการตลาดใหม่ๆ ซึ่งสร้างสีสันไม่น้อย สินค้าที่เป็นไฮไลท์ก็คือ “น้ำดื่มสิงห์” ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคในการดูแลสุขภาพ ซึ่งตลาดนี้มีการแข่งขันสูงมาก ในช่วงหลายปีมานี้จึงได้เห็นสิงห์ออกแคมเปญใหญ่ๆ รวมถึงใช้พรีเซ็นเตอร์เพื่อสู้ศึกในตลาด

สินค้าอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันทั้งสาหร่ายมาชิตะ โซดาสิงห์ โซดาลีโอ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีความสำคัญแตกต่างกันออกไปตามตลาด แต่สิงห์ฯ มีการปรับตัวที่เร็ว เรียนรู้ที่เร็ว หากสินค้าตัวไหนไม่มีศักยภาพบริษัทก็จะยุติในการทำตลาด

ขยายสู่ธุรกิจอาหาร ตั้ง Food Factor

เป็นการ Transform ที่สำคัญของสิงห์ในปีนี้ เราได้เห็นการขยับตัวสู่ธุรกิจอาหารมาหลายปีแล้ว แต่ในปีนี้ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยสิงห์ได้เปิดตัว “บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด” เป็นโปรเจ็คต์ยักษ์ที่ลุยธุรกิจอาหารโดยเฉพาะ โดยให้ “คุณต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” เข้ามาบริหาร เพราะคุณต๊อดมี Passion ในการทำอาหารอย่างมาก

เป้าหมายของฟู้ด แฟคเตอร์ก็เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร เชื่อมต่อช่องทางธุรกิจอาหารสู่ตลาดโลก โดยรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ

ปัจจุบันมีบริษัทผลิตอาหารในเครือบุญรอดฯ  ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายตลาดของธุรกิจอาหาร เช่น บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมทาน, บริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าว ตราพันดี เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ มีรวมมูลค่าทางธุรกิจอาหารในมือประมาณ 2,500 ล้านบาท (จากข้อมูลปีที่แล้ว)

จับเทรนด์สตาร์ทอัพด้วย Singha Venture

อีกหนึ่งการ Transform ของสิงห์ฯ ในปีนี้เห็นทีจะเป็นเรื่องของโลกดิจิทัล แม้จะเป็นบริษัทเก่าแก่ แต่ก็มีการปรับตัวเรื่องดิจิทัล ได้จับเทรนด์ของสตาร์ทอัพ เปิดตัว Singha Venture เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก เพราะมองเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยี และไอเดียจากสตาร์ทอัพมาช่วยสร้างการเติบโตให้สิงห์มากขึ้น และยังเป็นการช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับสตาร์ทอัพไทย ผู้ดูแลโปรเจ็คต์นี้ก็คือ “คุณเต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี”

โดยที่ Singha Ventures ได้เริ่มก่อตั้งช่วงกลางปี 2560 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Singha  Ventures สนใจเข้าในการลงทุน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ 1.สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer products) 2.เทคโนโลยี Supply chain และ 3.ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร (Enterprise solutions)

จะเห็นได้ว่าการเดินทางของบุญรอดบริวเวอรี่ตลอด 85 ปีนั้น อาจจะมีทางเดินทางขรุขระเพราะการแข่งขันในตลาดสูง แต่ก็ยังใช้ความเก๋าเกมในการสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค เห็นได้จากการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้บุญรอดฯ เป็นแบรนด์ในใจของผู้บริโภค และพาร์ทเนอร์มาตลอด 85 ปี  

สำหรับในปีนี้บุญรอดฯ ได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารในงานมหกรรมอาหารเอเชีย THAIFEX 2018 ครั้งที่ 27 ด้วยเช่นกัน ปีนี้ไฮไลท์สำคัญก็คือ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในเครือ อย่างบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน เปิดตัวซอสต๊อดโปรดักส์ตัวใหม่ อาทิ ซอสผัดไทย  น้ำจิ้มซีฟู้ด ซอสปรุงรสสูตรกระเพรา ลงสู่ตลาด เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกให้ผู้บริโภคในยุค 4.0 ทั่วทุกมุมโลก ต้องการความสะดวกรวดเร็วสอดรับกับไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองที่มีความเร่งรีบ แต่ขณะเดียวกันก็ยังใส่ใจสุขภาพ เน้นคุณภาพอาหารและรสชาติที่ดี

สรุป

ในปีนี้ได้เห็นการปรับตัวของบุญรอดบริวเวอรี่อย่างหนัก เป็นการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน และแม่นยำมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าแบรนด์ที่มีความเก่าแก่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะด้วยคุณภาพของสินค้าที่เชื่อถือได้ อีกทั้งยังมีการปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา