ใครจะไปคิด ขายของคาวอยู่ดีๆ เอ้า เค้กกล้วยหอมแมสกว่าซะงั้น
Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ‘บิว-วราภรณ์ ปิยะนันทสมดี’ และ ‘ธนิน ศรีธวัชพงษา’ คู่รักอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เจ้าของ ‘BONNANA’ แบรนด์เค้กกล้วยหอมขวัญใจชาวเน็ต
เรื่องราวของ BONNANA จะมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มาดูกัน
จากขายกับร้านแม่ช่วงโควิด สู่เค้กกล้วยหอมที่ทุกคนเรียกร้องให้กลับมา

บิวเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการขายเค้กกล้วยหอมเกิดขึ้นในช่วงโควิดที่ใครหลายๆ คนต่างก็อยากทำธุรกิจกัน
ณ ตอนนั้น บิวเริ่มเข้าสู่วงการอาหารด้วยการขายอาหารฝีมือคุณแม่ แต่เนื่องจากตนเป็นคนที่เชื่อว่ากินคาวก็ต้องกินหวาน ทำให้เกิดไอเดียอยากขายเค้กกล้วยหอม ซึ่งเป็นเมนูที่ชวนคิดถึงวัยเด็กของตน
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำเค้กกล้วยหอมทั้งที จะเป็นแค่ขนมธรรมดาๆ ไม่ได้ โดยธนินมองว่า เค้กกล้วยหอมคือเมนูที่ทุกวัยทานกันอยู่แล้ว แต่ควรดัดแปลงอย่างไรให้เข้ากับยุค 2019?
ด้วยเหตุนี้ ทั้งคู่จึงปิ๊งไอเดียเปลี่ยนเค้กกล้วยหอมทั่วๆ ไป เป็น ‘เค้กกล้วยหอมอบชีส’ และนี่ล่ะคือจุดกำเนิดของร้าน ‘กินคาวกินหวาน’ ที่บิวได้นำอาหารของคุณแม่มาขาย โดยมีเค้กกล้วยหอมอบชีสมาเป็นของหวานเสริมด้วย
แล้วใครจะไปคิดว่าเค้กกล้วยหอมจะยอดขายทะลุทะลวงแซงหน้าพระเอกอย่างอาหารคาวไปอีก?
“เริ่มจากวันแรกก็ 100 ออเดอร์ เราก็นั่งจดมือ นั่งตอบแชทเอง จนวันต่อมาเพิ่มเป็น 200 300 กลายเป็นว่าเค้กกล้วยหอมขายดีกว่าของคาว เราก็เลยเริ่มทำให้มันเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น จนกระทั่งทำไม่ไหว ประกอบกับมีอาชีพเป็นยูทูบเบอร์ด้วย พอหมดช่วงโควิด ขายไปปีสองปี เราก็หยุด” บิวกล่าว
แมสขนาดนี้ หยุดขายไป ใครจะยอม?
ธนินเผยว่า ตลอดเวลาที่หยุดขาย มักมีคนพิมพ์มาหาตลอดว่า “อยากทาน เมื่อไรจะกลับมา” ขนาดในเพจที่ไม่มีการใช้งานแล้ว คนก็ยังทักมา ซึ่งบางคนถึงขั้นขอซื้อสูตรเลย ขณะที่บางคนก็ถามตรงๆ ว่า ขายให้เขาคนเดียวได้ไหม
จากกระแสที่คนเรียกร้องอย่างถล่มทลาย สุดท้าย เมื่อปีที่แล้ว เค้กกล้วยหอมของบิวกับธนินก็กลับมาในชื่อ ‘BONNANA’
เค้กกล้วยหอมคัมแบคครั้งยิ่งใหญ่สมการรอคอย

กลับมาทั้งที แน่นอน ต้องดีกว่าเดิม
บิวบอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อยากกลับมาขายเค้กกล้วยหอม คือความสงสัยว่า สูตรที่ตนเองคิดมาเป็นสิ่งที่คนคิดถึงขนาดนั้นเลยหรือ
ดังนั้น ที่กลับมาครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพราะอยากขายอย่างเดียว แต่เพราะลูกค้าก็อยากให้แบรนด์กลับมาด้วย
ถ้าถามว่า แล้วทำไมถึงเพิ่งจะกลับมาขายในปี 2024 ทั้งๆ ที่คนเรียกร้องกันมาหลายปีตลอดเวลาที่ไปหาย บิวตอบว่า ปีนั้นคือช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากอาชีพเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่กลับมาทั้งที ตนไม่อยากให้มันเหมือนเดิม อยากให้ดูเป็นแบรนด์ชัดเจนขึ้น จึงปรับ Branding ให้ดูน่ารัก ทันสมัย
ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ของบิวคือคิดถูกจริงๆ เพราะแค่เปิดสาขาแรก ออเดอร์ก็เข้ามาแบบถล่มทลาย สมกับการรอคอยของทุกคน ซึ่งบางคนอาศัยอยู่ภาคอื่น ก็ลงทุนขับรถมากรุงเทพฯ เพื่อ BONNANA โดยเฉพาะ
ในส่วนของผลประกอบการ ธนินเล่าว่า ยอดขายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยสูงสุดที่เคยอบคือ 5,000 ชิ้นใน 1 วัน
ธนินเสริมว่า แม้ปัจจุบัน กระแสจะเริ่มนิ่งแล้ว แต่ยอดขายเฉลี่ยต่อวันยังอยู่ที่ 3,000 ชิ้น ซึ่งถ้าลองเอาไปคูณกับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท ก็อาจตีคร่าวๆ ว่า BONNANA สามารถทำรายได้กว่า 3.5 แสนบาทต่อวันเลย
ยิ่งไปกว่านั้น LINE MAN แพลตฟอร์มเดลิเวอรีชั้นนำของไทย เผยว่า BONNANA เป็นคนปลุกกระแสความดังของเค้กกล้วยหอม จนติดอันดับเมนูสุดไวรัลบนแอปพลิเคชัน แถมยังทำให้มีร้านอาหารที่เพิ่มเมนูนี้เข้ามามากกว่า 2,000 เจ้า และยอดออเดอร์เค้กกล้วยหอมทั่วประเทศก็โตราวๆ 115% เลย
BONNANA ของบอนวราภิว เอ้ย บิววราภรณ์ กับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่

คนอาจสงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมต้องชื่อ BONNANA คำว่า BON มาจากอะไร ทำไมไม่ใช้ Banana ไปตรงๆ
จริงๆ แล้ว สาเหตุที่แบรนด์มีชื่อนี้ มาจากความตั้งใจของทั้งคู่ ที่ไม่อยากให้มันเป็น Banana ขนาดนั้น เพราะในอนาคต ก็อยากเพิ่มเมนูที่ไม่ใช่กล้วยเข้ามาด้วย
ส่วนที่ต้องใช้คำว่า ‘BON’ บิวก็เล่าเองว่า มาจากการผวนชื่อตนเองจาก บิว วราภรณ์ เป็น บอน วราภิว
ไม่ใช่แค่อยากขายมากกว่ากล้วยเท่านั้น แต่เป้าหมายของ BONNANA ยังไปไกลกว่านั้น บิวบอกว่า อยากพาแบรนด์ไปขายที่ต่างจังหวัดด้วย เนื่องจากมีลูกค้าในโซนนั้นเยอะ และตนก็อยากอบเค้กสดใหม่ให้พวกเขาทาน
บิวกล่าวว่า ที่ผ่านมา BONNANA เคยไปออกบูธที่เชียงใหม่อยู่หนึ่งครั้ง และกระแสตอบรับดีมาก คนต่อแถวรอซื้อยาวสุดๆ
แม้ทุกวันนี้ BONNANA จะเปิดขายออนไลน์ ส่งทั่วประเทศ แต่บิวมองว่า สุดท้ายยังไง คนก็อยากมาต่อแถวเพื่อกินเค้กสดๆ ใหม่ๆ อยู่ดี และในปี 2025 ทั้งสองได้เปิดหน้าร้านออฟไลน์เป็นครั้งแรก ทำให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น และได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ
ด้วยความเฟรชของเค้กกล้วยหอมที่ขายหน้าบูธต่างๆ ธนินเผยว่า ตอนนี้สัดส่วนยอดขายออฟไลน์สูงกว่าออนไลน์แล้ว อยู่ที่ 60:40
ทั้งนี้ ธนินและบิวรู้ดีว่า การขยายไปต่างจังหวัดคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากๆ เนื่องจากขนมก็มีอายุของมัน ดังนั้น BONNANA ต้องจัดการหลังบ้านให้ดี เพื่อไปถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยยังรักษามาตรฐานไว้
อีกความท้าทายหนึ่งคือ การหาอะไรใหม่ๆ มาให้ลูกค้า โดยธนินอธิบายว่า เค้กกล้วยหอมเป็นขนมที่เข้ากับวัตถุดิบอื่นๆ ยากมาก ไม่ใช่ว่าจะหยิบอะไรมาผสมด้วยได้ แต่ยังไง BONNANA ก็อยากมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าอยู่ดี และในปีนี้ ทุกคนคงได้เห็นรสชาติใหม่ๆ แน่นอน
ในแง่ของคู่แข่ง ธนินเผยว่า “เอาจริงๆ เราไม่ได้ดูเท่าไร เราโฟกัสแค่ของเรา แต่ก็เข้าใจที่ว่า พอเป็นกระแส ก็จะมีหลายคนทำ เราก็ดีใจ ที่ทุกคนทำให้ตลาดเค้กกล้วยหอมคึกคักขึ้น ไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่งเท่าไร”
ส่วนบิวมองว่า หากทุกคนเห็นแบรนด์ ก็จะเห็นถึงความเป็น BONNANA ที่แทรกอยู่ในนั้นชัดเจน ซึ่งไม่สามารถแข่งกับใครได้ และคิดว่า คู่แข่งอาจทำให้แบรนด์เติบโตขึ้นด้วย ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
ฟีดแบคของลูกค้าคือคำตอบเรื่องความสำเร็จ

หลายๆ คนอาจสบประมาทว่า ที่ BONNANA ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ก็มาจากออเดอร์ของแฟนคลับล้วนๆ หรือเปล่า
แต่บิวเล่าว่า จริงๆ แบรนด์ก็มีฐานลูกค้าที่ไม่ได้รู้จักพวกเขาเลยด้วย และสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกประสบความสำเร็จคือ มีหลายๆ คนรู้จักเธอกับธนินในฐานะเจ้าของ BONNANA ไม่ใช่แค่ในฐานะยูทูบเบอร์ท่านหนึ่ง
ส่วนอีกปัจจัยคือ “ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ฟีดแบคของลูกค้า นี่ล่ะคือคำตอบที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง” บิวกล่าว
ในส่วนของการตั้งเป้ายอดขาย ทั้งคู่ตอบว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้น เพราะเชื่อว่า ถ้าหากทำวันนี้ดี ก็จะสามารถทำไปได้เรื่อยๆ และ BONNANA ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขเป็นอันดับ 1 แต่ต้องการให้ลูกค้าพอใจจนกลับมาซื้อซ้ำมากกว่า
บทความหน้า Brand Inside จะมาเล่าเรื่องราวเจ๋งๆ ของแบรนด์ไทยเจ้าไหนอีก รอติดตามกันได้เลย
- ประเทศนี้มี ‘ร้านกาแฟ’ เปิดใหม่วันละ 1.33 ร้าน Roots ทำยังไงถึงมัดใจลูกค้าได้
- ‘หมึกมันไก่’ เปิดไม่ถึงปี แต่ขายไก่ได้เดือนละ 4 ตัน กับเป้าหมายสู่ 100 ล้าน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา