Bolt ประเทศไทย ชี้แจงเกณฑ์การคัดเลือก ‘ไรเดอร์’ มาจากมาตรฐานกรมการขนส่ง-บริษัทแม่

คุณจะกล้าใช้บริการเรียกรถของแพลตฟอร์มที่ตนเองรู้สึกไม่ปลอดภัยไหม?

Bolt

‘ณัฐดนย์ สุขศิริฐานันท์’ ผู้จัดการทั่วไปประจำ โบลท์ ประเทศไทย (Bolt) เผยว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเสมอมา และในปีที่แล้ว Bolt ลงทุนกว่า 100 ล้านยูโร เพื่อยกระดับมาตรการนี้โดยเฉพาะ

Bolt เป็นบริษัทให้บริการเรียกรถหรือ ‘Ride-hailing’ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย ‘Markus Villing’ หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ผู้เห็นโอกาสจากปัญหาการเดินทางในยุโรป

ณัฐดนย์เล่าว่า Markus มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการ “เปลี่ยนเมืองเพื่อคน ไม่ใช่เพื่อรถ” (Make cities for people, not for cars) ผ่านการปรับผังเมือง จากที่เคยสัญจรด้วยรถยนต์เป็นหลัก ก็เปลี่ยนเป็นหันมาแชร์ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น

ปัจจุบัน Bolt มีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคนจาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งณัฐดนย์บอกว่า ไทยเป็นประเทศที่ทำผลงานได้ดีอันดับต้นๆ และยอดผู้ใช้บริการยังโตขึ้น 13 เท่าใน 3 ปีที่ผ่านมา

อะไรทำให้คนไทยใช้ Bolt เยอะขนาดนี้ มาดูกัน

Bolt ประเทศไทย ยืนยันให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย

Bolt

ณัฐดนย์มองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดผู้ใช้งานในไทยเพิ่มขึ้น ก็เป็นเพราะความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม

ณัฐดนย์กล่าวว่า Bolt ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ด้วยแนวทางที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ

  1. ก่อนการเดินทาง

Bolt มีฟีเจอร์ป้องกันเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย รวมถึงลดความเสี่ยงและสร้างความไว้วางใจให้กับคนขับและลูกค้าผ่านการ

  • ยืนยันตัวตนผู้ขับขี่ ตั้งแต่ออนบอร์ด กรองเอกสาร และสกรีนประวัติคนขับ
  • โชว์รายละเอียดการเดินทางก่อนเริ่มทริป เช่น ระยะเวลาการสัญจร รุ่นรถ และข้อมูลของทั้งสองฝ่าย
  • เปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถเห็นคะแนนของกันและกันได้ เผื่อไว้พิจารณาก่อนเดินทาง โดยถ้าไม่สบายใจ สามารถแคนเซิลทริปได้
  1. ระหว่างการเดินทาง

เพื่อสร้างความสบายใจระหว่างเดินทาง Bolt จึงมีฟีเจอร์บันทึกเสียง, ปุ่มช่วยเหลือฉุกเฉิน, แชร์ตำแหน่งให้คนใกล้ชิดรู้ และตรวจสอบการเดินทาง

  1. หลังการเดินทาง

Bolt จะทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าคำร้องเกี่ยวกับความปลอดภัย ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องทันท่วงที พร้อมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ด้วยการจัดตั้งทีมช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง และมีระบบการให้คะแนนระหว่างผู้ขับขี่กับผู้โดยสาร

คัดเลือกไรเดอร์โดยใช้เกณฑ์จากกรมขนส่งและบริษัทแม่

Bolt

จากมาตรการความปลอดภัยที่กล่าวไปทั้งหมด อีกหนึ่งประเด็นที่หลายๆ คนคงอยากรู้คือ Bolt มีมาตรฐานในการคัดเลือกไรเดอร์อย่างไร?

ณัฐดนย์เผยว่าหลักๆ แล้วคุณสมบัติในการคัดเลือกผู้ขับขี่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 มาตรการได้แก่

  1. มาตรการตามกรมขนส่งทางบก ซึ่งหมายถึงดำเนินการจัดเก็บข้อมูลที่ทางกรมฯ ต้องการ อาทิ บัตรประชาชนหรือข้อมูลส่วนตัว รวมถึงคัดกรองประวัติก่อนเริ่มงาน อบรมคุณภาพงานบริการ และใช้เกณฑ์การคัดเลือกที่ได้มาตรฐานในระดับอุตสาหกรรม
  1. มาตรการจากบริษัทแม่ฝั่งยุโรป โดยณัฐดนย์เผยว่า สำหรับข้อนี้ Bolt ประเทศไทยนำมาปรับใช้เป็น ‘Framework’ เท่านั้น แต่รายละเอียดของแต่ละเกณฑ์อาจไม่เหมือนเป๊ะ 100% ตามบริบทของแต่ละประเทศ เช่น ยุโรปและไทยอาจกำหนดจำนวนปีหลังเกิดเหตุที่จะผ่อนผันให้อาชญากรกลับเข้ามาทำงานได้ไม่เท่ากัน

นอกจากนั้น เพื่อป้องกันการสวมรอยทำงานแทนไรเดอร์ Bolt ยังมีฟีเจอร์ให้คนขับสแกนหน้าเป็นระยะ หากเซลฟีแล้วไม่ตรงกับใบหน้าบนฐานข้อมูล บัญชีจะถูกบล็อกถาวร

เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ หวังยกระดับความปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก

โบลท์

ตอนนี้ Bolt ได้เปิดตัว 2 ฟีเจอร์ใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนกว่า 100 ล้านยูโรที่บอกไป ประกอบไปด้วย

  1. Trusted Contacts: ฟีเจอร์ผู้ติดต่อฉุกเฉิน

ผู้โดยสารและผู้ขับขี่สามารถเพิ่มชื่อเพื่อนหรือคนในครอบครัวลงในบัญชีผู้ใช้งานสูงสุด 3 รายชื่อ ซึ่งทีมงานจะเอาไว้ส่งแจ้งเตือน ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ 

  1. Four-Digit Pick-Up Codes: รหัสรับผู้โดยสาร 4 หลัก

ทางระบบจะแสดง ‘รหัสยืนยันการรับผู้โดยสาร 4 หลัก’ ที่ไม่ซ้ำกัน บนหน้าจอของผู้โดยสาร ซึ่งคนขับมีหน้าที่กรอกเลขนั้นลงไปในมือถือของตนเอง ถึงจะสามารถเริ่มเดินทางได้ โดยฟีเจอร์นี้ Bolt ตั้งใจสร้างมาเพื่อป้องกันการขึ้นยานพาหนะผิดคัน

“ฟีเจอร์ผู้ติดต่อฉุกเฉิน และ รหัสรับผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ของเรา สามารถควบคุมการเดินทางได้ด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และยังเข้าถึงความช่วยเหลือได้รวดเร็วในช่วงเวลาวิกฤต” ณัฐดนย์กล่าว

จุดแข็งยังคงเป็นด้านราคา คอมมิชชันต่ำสุดในบรรดาคู่แข่ง

สำหรับปี 2025 เป้าหมายหลักของบริษัท คืออยากให้ Bolt เป็นแพลตฟอร์มที่คนถึงนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อต้องการใช้บริการ และยังคงเน้นโพสิชันด้านราคากับลงทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ณัฐดนย์เผยว่า จุดแข็งของ Bolt คือราคาและค่าคอมมิชชันที่หักจากไรเดอร์แค่ 18% ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด

“แม้ราคาจะต่ำกว่าคู่แข่ง แต่คุณภาพบริการและความปลอดภัยก็ไม่ควร Compromise” ณัฐดนย์เชื่ออย่างนั้น

ยิ่งในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ณัฐดนย์มองว่าผู้โดยสารคงมองหาตัวเลือกที่ประหยัดที่สุด ซึ่ง Bolt ก็วางตนเองให้อยู่ในจุดนั้น โดยที่ยังคงคุณภาพไว้

สำหรับการแข่งขันในตลาดท่ามกลางผู้เล่นทั้งหมด 11 ราย ณัฐดนย์คิดว่า Bolt คือผู้ท้าชิง (Challenger) ในบริบทนี้ เนื่องจากบริษัทโตขึ้นมาค่อนข้างเยอะ และมีศักยภาพพอที่จะโตต่อเนื่อง แต่หากถามว่าอยู่ในอันดับไหนนั้น Brand Inside ก็คงไม่อาจทราบได้

ในอนาคต Bolt ประเทศไทยจะลงทุนเพิ่มความปลอดภัยอย่างไรต่อไป และมีสิทธิ์ที่จะโค่นผู้เล่นรายใหญ่ไหม คงต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา