ช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเลือกใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบมาตลอดหลายปี แต่ล่าสุด (19 มี.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีนี้แล้ว ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศสุดท้ายที่จบรอบการใช้อัตราดอกเบี้ยฯ ติดลบ
ทั้งนี้ รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ในการประชุมเดือน มี.ค. 2567 นี้ประกาศ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี (นับจากปี 2550 ที่เคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ) โดยปรับจากการติดลบที่ระดับ 0.1% สู่ระดับ 0 – 0.1% ซึ่งถือเป็นการยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559
นอกจากนี้ยังยกเลิกมาตรการ Yield curve control หรือนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ที่ใช้ดูแลพันธบัตรรัฐบาลอาย 10 ปี
ด้านวิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงขึ้นค่าจ้างในอัตรามากที่สุดในรอบ 33 ปี หนุน BOJ ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้เศรษฐกิจที่รอดพ้นจากภาวะถดถอยในไตรมาส 4 ปี 2566 โดย GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้นจากประมาณการรอบแรกที่ -0.4% และ -0.1% ตามลำดับ ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่เข้าเงื่อนไขภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยได้รับแรงหนุนจากรายจ่ายการลงทุน ที่โตดีกว่าคาด (ที่ +2%QoQ) แม้การบริโภคยังคงหดตัว (-0.3%QoQ) นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตทั่วไปเดือน ก.พ. อยู่ที่ 0.6% YoY เท่ากับตัวเลขคาดการณ์ของตลาด แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.2%
อีกทั้ง บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในญี่ปุ่นเห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 5.28% ในปีนี้ โดยนับเป็นการปรับขึ้นที่มากสุดในรอบ 33 ปี ภายหลังการประชุมของกลุ่มสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (Rengo) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดเป็นปัจจัยหนุนต่อการบริโภคภายในประเทศของญี่ปุ่นให้มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ ผ่านการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง ขณะที่ผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างคาดว่าจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะกลาง-ยาว (wage price spiral) และทำให้ญี่ปุ่นสามารถรอดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2544 ได้
ที่มา CNBC, Bloomberg, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา