ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) จัดงานสัมมนา FinTech Forum เป็นครั้งแรกในวันนี้ (23 สิงหาคม 2016) เพื่อกระตุ้นให้แวดวงการธนาคารของญี่ปุ่นสนใจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น
ในปาฐกถาเปิดงานของนาย Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง “เงิน” (Fin) กับ “สารสนเทศ” (Tech) ที่เกี่ยวพันกันมาโดยตลอด ทาง Brand Inside ขอนำเสนอประเด็นโดยสรุป ดังนี้
เทคโนโลยีสารสนเทศ กับ บริการการเงิน
ตลอดระยะเวลาของมนุษยชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก และแวดวงการเงินเองก็พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีด้านสารสนเทศมาโดยตลอด
“เงิน” ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มันคือสัญลักษณ์ที่แสดง “ข้อมูล” (information) ของมูลค่า (value) ผ่านรูปแบบของวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินกระดาษหรือเงินโลหะ หน้าที่ของมันคือแลกเปลี่ยนและรักษามูลค่าของสิ่งของเหล่านั้น
เงิน ยังนำไปใช้แสดงข้อมูล “ราคา” (price) ของสิ่งของและบริการ ที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ส่วนแนวคิดเรื่องบัญชีแยกประเภท (ledger) และ หลักการบัญชีคู่ (Double Entry Accounting) ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีการผลิตกระดาษและการพิมพ์ ก็ถือเป็นแกนกลางในการจัดการ “สารสนเทศ” ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แวดวงการเงินใช้ประโยชน์จากสารสนเทศมาโดยตลอด การให้กู้เงิน (lending) เกิดขึ้นได้จากการแชร์ข้อมูลของผู้กู้ยืม ส่วนการจ่ายเงิน (payment) และการชำระหนี้ (settlement) ของธุรกรรม เกิดขึ้นได้จากการกระมวลผลการโอนเงินฝากระหว่างธนาคาร
ในมิติของการเงินแล้ว การประมวลผลข้อมูล (information processing) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่พัฒนาเศรษฐกิจด้วย
นวัตกรรมจากเทคโนโลยีสารสนเทศและ FinTech
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเรื่อง big data หรือ sharing economy ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น อันเกิดจากการรับรู้ข้อมูลสารสนเทศที่มากขึ้นนั่นเอง
เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาใช้สร้างนวัตกรรมทางการเงิน จึงเกิดคำว่า FinTech ขึ้นมา ซึ่งถ้ามองย้อนไปแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีอิทธิพลต่อภาคการเงินมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทั้งสองอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ดังที่อธิบายไปแล้ว
เทคโนโลยี blockchain และ distributed ledger ถือเป็นเทคโนโลยีหัวหอกของวงการ FinTech ที่กำลังเข้ามาท้าทายแนวคิดการลงบัญชี ledger แบบดั้งเดิม ที่เชื่อมั่นในบุคคลที่สามที่ไว้ใจได้ (trusted third party) ในการเก็บข้อมูลบัญชีแบบรวมศูนย์ การเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของ ledger จึงอาจส่งผลกระทบให้สถาปัตยกรรมของอุตสาหกรรมการเงินต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
ความปลอดภัยของสารสนเทศ (Information Security) คือปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา FinTech
เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังขยายขอบเขตของภาคการเงิน แต่ในอีกด้าน ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของสารสนเทศก็เป็นปัจจัยที่ต้องใส่ใจมากขึ้นเช่นกัน
ข้อมูลสารสนเทศที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้การประมวลผลแม่นยำมากขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ถ้าสารสนเทศเหล่านี้ถูกใช้งานในทางที่ผิด ก็จะเกิดผลกระทบเชิงลบอย่างมาก
ดังนั้น การจัดการความปลอดภัยของสารสนเทศจึงเป็นหัวใจสำคัญว่า FinTech จะไปรอดหรือไม่ แนวคิดในภาพรวมของ FinTech จะอิงอยู่กับ “ความเปิดกว้าง” (openness) ของระบบเครือข่าย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินให้ได้มากที่สุด แต่ความเกิดกว้างนี้ก็จะเป็นช่องโหว่ให้เกิด cyberattack มากขึ้นด้วย
กิจกรรมทางการเงินเกิดจากการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยเศรษฐกิจ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อยู่บน “ความเชื่อถือ” (trust) มาโดยตลอด ดังนั้นถ้า FinTech มุ่งเป้าจะพัฒนากิจกรรมทางการเงินให้ก้าวไกลกว่าเดิม FinTech ก็จำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้งานเช่นกัน ถ้าหากเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยขึ้นบ่อยๆ ในแวดวง FinTech ความเชื่อถือของสาธารณชนก็จะสั่นคลอน ผู้คนก็จะไม่กล้าใช้บริการใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลลบต่อพัฒนาการของ FinTech ในภาพรวม
ระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นซีลประทับซองจดหมาย หรือรหัส PIN อาจไม่เพียงพอแล้วสำหรับปัจจุบัน เราอาจต้องมองไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการตรวจสอบตัวตนทางชีวภาพ (biometric authentication) เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัย
นโยบายของ Bank of Japan ต่อการพัฒนา FinTech
Bank of Japan มองเห็นว่า FinTech จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จึงต้องการเป็นผู้นำด้านการวิจัยว่าควรนำ FinTech มาใช้งานอย่างไร
Bank of Japan เพิ่งก่อตั้งศูนย์ FinTech Center เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2016 ที่ผ่านมา โดยอยู่ภายใต้ฝ่าย Payment and Settlement Systems Department นอกจากนี้ Bank of Japan ยังก่อตั้ง “เครือข่าย FinTech” ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายต่างๆ ของ Bank of Japan โดยมี FinTech Center ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ
ส่วนการสัมมนา FinTech Forum ครั้งแรกในวันนี้ ทางธนาคารกลางอยากเห็นความหลากหลายของผู้เข้าร่วม
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) จะเห็นความหลากหลายระหว่างวัฒนธรรมระหว่างยุโรปและโลกตะวันออก ส่งผลให้แวดวงการเงินพัฒนาจนเกิดระบบ Double-Entry Bookkeeping ขึ้นมาได้ ซึ่งธนาคารก็หวังว่าความหลากหลายของการพัฒนา FinTech ในวันนี้จะเกิดนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบอย่างมากได้ในลักษณะเดียวกัน
อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้จาก Bank of Japan
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา