ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศปรับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินใหม่

ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะใช้ผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปีที่ -0.1% เช่นเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่แต่เดิมเป็น 2% เหลือประมาณ 1.1% และปรับเรื่องนโยบายการซื้อสินทรัพย์ใหม่

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (ภาพจาก Shutterstock)

Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ ประกาศเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางให้ยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากเป้าหมายของ BoJ อาจไม่ถึงฝั่งฝันในความพยายามที่จะทำให้เงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นสู่ระดับ 2% และเป็นการปรับนโยบายใหม่ในรอบ 2 ปี

เป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของ BoJ ในปีนี้คือ 1.1% ส่วนปี 2019 อยู่ที่ 1.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมคือ 1.3% และ 1.8% แม้ว่าตัวของ Kuroda เองจะกล่าวว่าเป้าหมายเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 2% เช่นเดิมก็ตาม รวมไปถึงการปรับเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในปีนี้อยู่ที่ 1.5% ด้วย

อย่างไรก็ดี BoJ ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำในปีนี้เช่นเดิม และระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเนื่องจากจะเริ่มมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิม 8% ไปเป็น 10%

ปรับการซื้อสินทรัพย์ให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม

BoJ ยังได้ประกาศปรับนโยบายการซื้อสินทรัพย์ผ่านกองทุน ETF ดัชนี Nikkei 225 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.2 ล้านล้านเยน แต่ในภาพรวมแล้วยังอยู่ที่ 6 ล้านล้านเยนต่อปี แต่ BoJ สามารถเพิ่มหรือลดการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ได้

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ BoJ สามารถซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมได้มากกว่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี ถ้าหากผลตอบแทนพันธบัตรขึ้นมาสูงเกินไป เป้าหมายของ BoJ คือผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปีอยู่ที่ -0.1% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี BoJ ยังตั้งเป้าอยู่ที่ 0% หรือไม่เกิน 0.2%

นักวิเคราะห์แปลกใจกับ BoJ

Masamichi Adachi นักเศรษฐศาสตร์จาก JPMorgan กล่าวว่า เขาเองรู้สึกแปลกใจกับนโยบายใหม่ของ BoJ ซึ่งถือว่าแข็งกร้าวมาก ซึ่งจะกลายเป็นว่าภายใน 1-2 ปีนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่มีทางขึ้นดอกเบี้ยโดยเด็ดขาด

นอกจากนั้น Kerry Craig นักกลยุทธ์จาก JP Morgan Asset Management ได้ออกมาเตือนถึงเรื่องขนาดสินทรัพย์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ใหญ่ขึ้น โดยแตะ 98% ของ GDP มากกว่าสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP รวมไปถึงถ้าหากในระยะยาวแล้ว BoJ จะยังคงนโยบายนี้ไปได้นานแค่ไหน เนื่องจากตัวเขาเองมองว่านโยบายนี้จะไม่ทำให้ถึงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% แน่นอน

ที่มาBloomberg, Financial Times, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ