เปิดวิสัยทัศน์ BOI กับเป้าหมายส่งเสริมประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

ไทย คือฐานการผลิตรถยนต์สันดาประดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแบรนด์รถยนต์ชั้นนำต่างเข้ามาตั้งไลน์การผลิตที่นี่มาหลายสิบปี เกิดการลงทุนมหาศาล และมีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก

หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นคือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และทางหน่วยงานนี้กำลังจะเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้งด้วยการปั้นไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

แผนดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร และมีแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ใดบ้างที่เริ่มสนใจตั้งโรงงานผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ในไทย Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI ดังนี้

Mercedes-Benz

เปิดด้วย EV 30/30 ที่ต้องเกิดขึ้นในปี 2030

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI เล่าให้ฟังว่า BOI ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงการคลัง, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เป็นต้น เพื่อเดินหน้าเป้าหมาย EV 30@30 ที่ต้องการให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่ไม่ปล่อยมลพิษเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2030

“BOI นอกจากจะสนับสนุนการลงทุนในแง่มุมต่าง ๆ การสนับสนุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าคือวาระแห่งชาติ แต่การสนับสนุนนั้นไม่ใช่แค่เกิดกับฝั่งแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ แต่ต้องรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อทำให้ครบทั้งระบบนิเวศ”

ปัจจุบัน BOI มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 4 แง่มุมคือ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่จักรยานยนต์, รถยนต์ จนถึงยานยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ, การผลิต 17 ชิ้นส่วนสำคัญสำหรับผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบชาร์จแบบต่าง ๆ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

BOI
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI

แชมป์การผลิตระดับภูมิภาค และชั้นนำในระดับโลก

ทั้งนี้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่ใช่แค่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แต่เพื่อส่งออกไปในระดับโลก และคงตำแหน่งผู้นำในการผลิตรถยนต์ระดับภูมิภาค และเป็นประเทศชั้นนำสำหรับการผลิตรถยนต์ในระดับโลกเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าให้ความสนใจ และมีความมั่นใจในไทยมากกว่าเดิม

“ไทยมียอดการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความเชื่อมั่น และสนใจจะมาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่ง BOI มีความต้องการดึงดูดบริษัทระดับโลกเข้ามาสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดการผลิต 8 กิกะวัตต์ขึ้นไป เพราะในไทยยังมีความต้องการจำนวนมาก”

การเดินหน้าเรื่องนี้ BOI ได้วางแผนไว้ 3 เรื่องประกอบด้วย

  • การส่งเสริมให้การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งจากรายเดิม และรายใหม่
  • สร้างความเข้มแข็งของ EV Supply Chain และสนับสนุน SMEs ไทยให้เข้ามามีบทบาทใน Supply Chain
  • ส่งเสริม และพัฒนา ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ EV ให้เอื้อต่อการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV ในระยะยาว

จากทั้ง 3 แผนของ BOI มีการไปเจรจากับแบรนด์รถยนต์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องในเกาหลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิต และผู้ซื้อชิ้นส่วนเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาเจอกัน ทั้งการส่งเสริมให้มีผู้จัดทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในประเทศไทย

BOI

BOI

เจาะลึกอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศไทย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีการจ้างงานถึงกว่า 8 แสนคน มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนกว่า 3,000 บริษัท มีมูลค่าส่งออกกว่า 9 แสนล้านบาท เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ และมีความหมายอย่างมากต่อการสร้างความยั่งยืนของฐานการผลิตยานยนต์ในไทย โดยอีวีจะเป็นหัวจักรใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และยังช่วยลดปัญหามลพิษจากภาคการขนส่ง ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ส่วนในมุมรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีนักลงทุนรายสำคัญขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) แล้วจำนวน 14 ราย กำลังการผลิตรวม 2.77 แสนคัน/ปี (ตามที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน) และเงินลงทุนรวม 34,436.7 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียน)

BOI BOI

เปิดมุมมองฝั่งผู้รับผลิตโดย ธนบุรีประกอบรถยนต์

วีระชัย เชาว์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด พันธมิตรด้านการประกอบรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย เสริมว่า การเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องสำคัญ เพราะมีมูลค่าการลงทุนจำนวน และมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้จำนวนมาก

“ตอนนี้ไทยคือฐานการผลิตรถกระบะสำคัญ และการผลิตนั้นใช้ชิ้นส่วนถึง 90% จากประเทศไทย และ SUV ที่ผลิตในไทยตอนนี้ก็ใช้ชิ้นส่วนในไทย 70% เช่นกัน จึงอยากให้ BOI เข้ามาเน้นเรื่องซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ในไทยเติบโตไปด้วยกันกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้”

ธนบุรีประกอบรถยนต์ คือพาร์ตเนอร์การผลิตของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย มีการประกอบรถยนต์แบรนด์ดังกล่าวมาหลายสิบปีที่โรงงานย่านสมุทรปราการ และเริ่มประกอบรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และเป็น 1 ใน 7 แห่ง ของโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์

Mercedes-Benz

เมอร์เซเดส-เบนซ์ กับความสำคัญของประเทศไทย

มาร์ค เบอร์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า บริษัทมีแผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่าง ๆ เท่านั้นภายในปี 2030 ทำให้ต้องลงทุนในหลายแง่มุมอย่างต่อเนื่อง และต้องการให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังเดินหน้าต่อไป

“เราสนใจร่วมในโครงการการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ แต่ด้วยเป็นแบรนด์รถหรู ทำให้จำนวนการผลิตมีน้อยกว่าแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ทำให้การส่งเสริมอาจทำได้มากกว่าแค่เรื่องภาษี เช่น การอำนวยความสะดวกเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมาตรการ EV 3.5 เราก็สนใจ”

เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 1 รุ่น ในไทยคือ EQS 500 4MATIC AMG Premium และใช้ชุดแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยเช่นกัน สำหรับราคารุ่นดังกล่าวอยู่ที่ 7.90 ล้านบาท สามารถวิ่งได้ไกล 702 กม. หลังชาร์จเต็ม วางตำแหน่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียม 4 ประตู ซีดาน ขนาดใหญ่ 5 ที่นั่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา