บีโอไอ เผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก 3.8 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนมากสุด

บีโอไอ เปิดเผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก 2564 มูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 158% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประเทศญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนมากที่สุด

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดยพบว่ามีมูลค่าการลงทุนกว่า 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 158% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนมากที่สุด

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน พบว่ามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2563 

ด้านมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% เมื่อเทียบกับปี 2563 เป็นผลจากโครงการขนาดใหญ่ในกิจการพลังงานไฟฟ้าที่ยื่นขอรับการส่งเสริม 198 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุน 120,814 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

    • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าเงินลงทุน 60,970 ล้านบาท
    • อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าเงินลงทุน 43,040 ล้านบาท
    • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าเงินลงทุน 28,160 ล้านบาท
    • อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปอาหาร มูลค่าเงินลงทุน 23,170 ล้านบาท
    • อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ มูลค่าเงินลงทุน 20,720 ล้านบาท

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เติบโต 850%

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหมายมีการเติบโตสูงถึง 850% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนสหรัฐฯ ในกิจการผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เติบโต 3.3 เท่า จากความต้องการอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางทางการแพทย์ที่ไทยมีศักยภาพ

ญี่ปุ่นครองแชมป์ ขอส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว จำนวน 403 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 278,658 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 3.8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนของปี 2563 ทั้งปี ที่อยู่ที่ 171,160 ล้านบาท โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

    • ประเทศญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุน 42,773 ล้านบาท
    • สหรัฐอเมริกา มูลค่าเงินลงทุน 24,131 ล้านบาท
    • ประเทศจีน มูลค่าเงินลงทุน 18,615 ล้านบาท

ส่วนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC บีโอไอ ให้ข้อมูลว่า มีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 232 โครงการ ด้วยมูลเงินการลงทุนรวม 126,640 ล้านบาท ซึ่งหากแบ่งเป็นจังหวัดจะพบว่า ระบองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดที่ 64,350 ล้านบาท ลงลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี ที่ 40,860 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 21,430 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา