แม้ว่าบริษัทอย่าง Boeing จะยืนยันว่าเครื่องบินรุ่น 737 MAX ปลอดภัยตามมาตรฐาน แต่ความเชื่อมั่นที่สายการบินทั่วโลกนั้นไม่ได้มองเหมือนกับ Boeing และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนราคาแสนแพง
หลังจากที่เครื่องบินโดยสารของ Ethiopian Airlines ได้ตกหลังจากขึ้นบิน 6 นาทีนั้น และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 เดือนของเครื่องบินจาก Boeing รุ่น 737 MAX 8 ทำให้เกิดความกังวลจากหน่วยงานกำกับดูแลการบินของหลายๆ ประเทศเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน สิงคโปร์ แคนาดา ออสเตรเลีย ไทย ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันสายการบินหลายๆ ประเทศก็ป้องกันตัวเองด้วยการไม่นำเครื่องบินรุ่นนี้ขึ้นบิน
รวมไปถึงล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการบินของสหรัฐอเมริกา คือ FAA ได้ประกาศให้สายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ห้ามขึ้นบิน เป็นประเทศท้ายๆ ของโลก โดย FAA ได้รายงานว่าได้รับรายงานล่าสุดว่าสาเหตุที่เครื่องบินโดยสารของ Ethiopian Airlines ตกนั้นเป็นกรณีใหม่
- สำนักงานการบินพลเรือนห้าม “ไทย ไลอ้อนแอร์” นำ “โบอิ้ง 737 MAX 9” ขึ้นบิน 7 วัน
- ไลอ้อนแอร์ ประกาศชะลอรับเครื่องบิน โบอิ้ง 737 MAX 8 ไปก่อน เริ่มสนใจเครื่องบินของแอร์บัส
- สิงคโปร์ห้ามสายการบินนำ “โบอิ้ง 737 MAX ทุกรุ่น” บินเข้าออกน่านฟ้าประเทศชั่วคราว
- จีนสั่งสายการบินงดใช้ “โบอิ้ง 737 MAX 8” สายการบินอื่นๆ ก็ยกเลิกเช่นกัน หุ้น Boeing ร่วงระนาว
737 คือท่อน้ำเลี้ยงของโบอิ้ง
Sheila Kahyaoglu นักวิเคราะห์จาก Jefferies ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า เครื่องบินรุ่น 737 ของ Boeing คิดเป็น 25% ของรายได้รวม ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ รวมไปถึงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมา Boeing ได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 ไปแล้วกว่า 580 ลำ ซึ่งรวมรุ่น MAX ที่ส่งมอบไปแล้ว 256 ลำ
ขณะเดียวกันยอดสั่งจองล่วงหน้าที่เหลือกว่า 4,636 ลำ ในตอนนี้ที่ประมาณมูลค่าได้กว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้กำลังอยู่ในความเสี่ยงเพราะว่าสายการบินต่างๆ เริ่มที่จะเกิดความลังเลใจ รวมไปถึงตัดสินใจที่จะยกเลิกการสั่งซื้อด้วยซ้ำ
สายการบินเสียงแตก
ถ้าหากไม่นับว่ากรณีของสายการบิน Lion Air ที่ตกไปในทะเลชวาเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว โดยตัวแทนของ Boeing กล่าวว่า Lion Air ดูแลรักษาเครื่องบินได้ไม่เหมาะสม จนทำให้ CEO ของ Lion Air ถึงกับควันออกหู และกล่าวว่าสายการบินอาจยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินทั้งหมดจาก Boeing รวมไปถึงข่าวลือล่าสุดว่าสายการบินจากอินโดนีเซียเริ่มสนใจเครื่องบินจาก Airbus
ยังมีสายการบินอื่นๆ ที่กำลังอาจยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือเปลี่ยนรุ่น ไม่ว่าจะเป็น
- Utair จากรัสเซีย ขอให้ Boeing การันตีความปลอดภัย ก่อนที่จะรับส่งเครื่องบิน
- Garuda จากอินโดนีเซีย เตรียมที่จะยกเลิกคำสั่งซื้อ 50 ลำ (รายงานจาก Reuters)
- Kenya Airways เตรียมเปลี่ยนจากรุ่น 737 MAX เปลี่ยนเป็น 737-800 หรือ 737-900 แทน
ขณะเดียวกันสายการบินอื่นที่กำลังติดตามดูในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น VietJet จากประเทศเวียดนาม กำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจยกเลิกดีลที่สั่งซื้อไปกว่า 200 ลำ รวมไปถึง Flyadeal จากประเทศซาอุดิอาระเบียที่ก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนใจจาก Airbus ก็กำลังติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
แต่ก็ยังมีสายการบินที่ยืนยันว่าจะรับเครื่องบินรุ่นนี้ เช่น Virgin Australia ที่ยังยืนยันว่าพร้อมรับเครื่องบินรุ่น 737 MAX 8 กว่า 30 ลำ เข้าในฝูงบิน
ราคาที่ต้องจ่ายแพง
แม้ว่าบริษัทจะออกมายืนยันว่าเจ้า 737 MAX ทุกรุ่นจะมีความปลอดภัยสูง แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่ได้กล่าวไปข้างต้นที่สวนทางกับสิ่งที่บริษัทยืนยันคือ ความมั่นใจที่ส่งผลไปถึงกับราคาหุ้นของบริษัท โดยมูลค่าตลาดของบริษัทหายไปแล้วกว่า 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ล่าสุด Boeing ต้องชะลอการส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 MAX ทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้รับข้อมูลใหม่จาก FAA เกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน Ethiopian ตก ซึ่งขั้นร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เครื่องบินรุ่นนี้อาจต้องได้รับการตรวจสอบด้านความปลอดภัย และรวมไปถึงบริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ของ Barclays วิเคราะห์ว่า กรณีเลวร้ายที่สุด บริษัทจะได้รับผลกระทบในเรื่องของกระแสเงินสดประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไม่เพียงแค่นั้น แต่การที่ Boeing ชะลอการส่งมอบ อาจกระทบกับสายการผลิต ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่า Suppiler ทั้งหลายที่ต้องรอท่าทีของ Boeing อีกรอบด้วย
คู่แข่งรอซ้ำ
นอกจากที่ความมั่นใจในความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่น 737 MAX จะลดลงแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าหลายๆ สายการบินเริ่มที่จะลังเลใจในการสั่งซื้อเครื่องบินจาก Boeing ล่วงหน้าแล้ว หลายๆ รายมีข่าวลือด้วยซ้ำว่าอาจยกเลิกการสั่งซื้อ เช่น Lion Air ฯลฯ
และนี่เป็นโอกาสอันดีของเครื่องบินจากค่ายคู่แข่ง โดยเฉพาะจาก Airbus ที่ยอดสั่งซื้อรวมของเครื่องตระกูล A320 ล่าสุดนั้นเยอะกว่า Boeing ไปแล้ว ปัจจุบันกำลังการผลิตในตระกูล A320 ของบริษัทอยู่ที่ 63 ลำต่อเดือน มากกว่าที่ Boeing ผลิตรุ่น 737 MAX ซึ่งผลิตได้ 52 ลำต่อเดือน
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของผู้ผลิตเครื่องบินในประเทศจีนอย่าง Comac ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน C919 อาจทำให้สายการบินในประเทศจีนเปลี่ยนใจจาก Boeing มาสั่งเครื่องบินแทนอีกด้วย
ที่มา – Bloomberg, Dailymail, NYTimes, NBC News, LA Times, CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา